Q: ควรวางจิตอย่างไรเมื่อจิตติดในการพิจารณากาย?

A: ในการพิจารณากาย ท่านเปรียบไว้กับคนฆ่าโค ที่เขาจะแบ่งเนื้อออกเป็นส่วน ๆ แล้วเปรียบมาที่ตัวเราว่า เมื่อแยกตัวเราออกแล้ว แล้วตัวเราอยู่ตรงไหน หากขณะที่เราแยกออก แล้วเราสงสารวัว เรายังข้ามจุดนี้ไปไม่ได้ ก็อย่ากินสัตว์ใหญ่ พิจารณาว่าเขาฆ่าเจาะจงเพื่อเราหรือไม่ หากเห็น ได้ยิน และสงสัยว่าเขาจะฆ่าเจาะจงเพื่อเรา ก็อย่ากิน พิจารณาว่าการที่เรามีกรุณาต่อมันนั้นดีแล้ว ให้ใช้อุเบกขาเพื่อไม่ให้จิตเราเศร้าหมอง

Q: ศีลอุโบสถรักษาอย่างไรที่ไหน?

A: สามารถทำที่ไหนก็ได้ เพราะศีลอยู่ที่กาย วาจา โดยมีเจตนาเป็นตัวนำ โดยตั้งจิตไว้ว่า พระพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์ท่านรักษาศีลไว้ดีแล้วตลอดชีวิต เราจะเอาวันหนึ่งคืนหนึ่ง เช่นนี้ เราก็ได้ชื่อว่าได้อยู่ใกล้ท่านวันหนึ่งคืนหนึ่ง จะเป็นการปฏิบัติบูชาที่ดีมาก 

Q: การพิจารณากายคตาสติ ทำไมต้องเห็นกายเป็นปฏิกูลและไม่ปฏิกูล?

A: หนึ่งในการพิจารณากายคือ การพิจารณาโดยความเป็นของทั้งปฏิกูลและไม่ปฏิกูล โดยท่านให้แนวทางพิจารณาไว้ คือ เห็นว่าสิ่งปฏิกูลไม่ปฏิกูล, เห็นสิ่งที่ไม่ปฏิกูลเป็นปฏิกูล, เห็นสิ่งที่ปฏิกูลโดยทั้งเป็นปฏิกูลและที่ไม่ปฏิกูล, เห็นสิ่งที่ไม่ปฏิกูลโดยทั้งเป็นปฏิกูลและที่ไม่ปฏิกูลและไม่เห็นทั้ง 2 อย่าง แต่เห็นโดยความเป็นอุเบกขา เราพิจารณาเพื่อให้เห็นตามจริง เพื่อละราคานุสัย เพื่อละปฏิฆานุสัย เพื่อกำจัดอวิชชาให้หมดไป

Q: เข้าสมาธิแล้วมีอาการเจ็บหน้าอกควรแก้ไขอย่างไร?

A: ควรปรึกษาแพทย์ก่อน หากตรวจแล้วร่างกายปกติ ค่อยมาพิจารณาว่าการเจ็บเป็นอาการอย่างหนึ่ง เป็นสภาวะจิตที่เราข้องอยู่ จะข้ามปัญหานี้ได้ คืออย่าไปใส่ใจมัน เพราะจิตเราเมื่อน้อมไปในสิ่งไหนสิ่งนั้นจะมีพลัง ถ้าเราไม่น้อมไปในสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็จะอ่อนกำลัง เราก็จะข้ามตรงนี้ไปได้ 


Tstamp

[03:00] ควรวางจิตอย่างไรเมื่อจิตติดในการพิจารณากาย?
[16:54] ศีลอุโบสถรักษาอย่างไรที่ไหน?
[29:00] การพิจารณากายคตาสติ ทำไมต้องเห็นกายเป็นปฏิกูลและไม่ปฏิกูล?
[44:10] เข้าสมาธิแล้วมีอาการเจ็บหน้าอกควรแก้ไขอย่างไร?