“อุโบสถ” หมายถึง กาลเป็นที่เข้าจำ (คือกาลเป็นที่เข้าไปอยู่โดยการถือศีล) และคำว่า “ศีลอุโบสถ” จึงหมายถึง การเข้าจำรักษาศีล 8 ของอุบาสกและอุบาสิกาในวันขึ้นและแรม 8 ค่ำ 15 ค่ำของทุกเดือน หรือที่เรียกกันว่า “รักษาอุโบสถศีล”

ใน อุโปสถวรรค หมวดว่าด้วยอุโบสถ โดยพระสูตรที่ 41-45 คือใน 5 พระสูตรนี้ กล่าวถึงหลักธรรม 8 ประการที่เหมือนกัน ก็คือศีล 8 โดยปรารภคุณของพระอรหันต์ คือพระอรหันต์ย่อมละเว้นขาดจาก 

  1. การฆ่าสัตว์ 
  2. การลักทรัพย์
  3. เมถุนธรรม
  4. การพูดเท็จ
  5. เสพของมึนเมา
  6. การฉัน (บริโภค) ตอนกลางคืน
  7. การละเล่นและดูการละเล่น การประดับตกแต่งร่างกาย และเครื่องประทินผิว
  8. การนอนที่นอนสูงใหญ่

แต่ละพระสูตรนั้นจะมีรายละเอียดในเรื่องของสถานที่ บุคคล และผลอานิสงส์ที่เหมือนและต่างกันออกไป 

*ศีล 8 แตกต่างจากศีล 5 คือ ศีล 8 เป็นศีลที่เป็นไปเพื่อการประพฤติพรหมจรรย์เพื่อการหลีกออกจากกาม แต่ศีล 5 ยังเกี่ยวเนื่องด้วยกามอยู่

ข้อที่ #41_สังขิตตุโปสถสูตร ว่าด้วยอุโบสถโดยย่อ กล่าวถึง การรักษาศีล 8 ย่อมมีผลมีอานิสงส์มาก โดยตรัสกับภิกษุทั้งหลายที่พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี

ข้อที่ #42_วิตถตุโปสถสูตร ว่าด้วยอุโบสถโดยพิสดาร โดยได้เปรียบเทียบอานิสงส์ของการรักษาศีล 8 ไว้กับความสุขของมนุษย์ เช่น พระราชายังมีความสุขไม่ถึงเสี้ยวของผู้ที่รักษาศีล 8 โดยได้เปรียบเทียบสุขของมนุษย์ (เป็นของเล็กน้อย) ไว้กับสุขอันเป็นทิพย์ไว้ดังนี้

•    50 ปีของมนุษย์เท่ากับ 1 วันของเทวดาชั้นจาตุมหาราช (มีอายุ 500 ปีทิพย์)

•    100 ปีของมนุษย์เท่ากับ 1 วันของเทวดาชั้นดาวดึงส์ (มีอายุ 1000 ปีทิพย์)

•    200 ปีของมนุษย์เท่ากับ 1 วันของเทวดาชั้นยามา (มีอายุ 2,000 ปีทิพย์)

•    400 ปีของมนุษย์เท่ากับ 1 วันของเทวดาชั้นดุสิต (มีอายุ 4,000 ปีทิพย์)

•    800 ปีของมนุษย์เท่ากับ 1 วันของเทวดาชั้นนิมมานรดี (มีอายุ 8,000 ปีทิพย์)

•    1,600 ปีของมนุษย์เท่ากับ 1วันของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี (มีอายุ 16,000 ปีทิพย์)

ในพระคาถาท้ายพระสูตรได้กล่าวถึงอานิสงส์ของผู้ที่รักษาอุโบสถศีล (ศีล 8) ว่า “ทำบุญที่มีสุขเป็นกำไร ไม่ถูกนินทา ย่อมเข้าถึงสวรรค์”

ข้อที่ #43_วิสาขาสูตร ว่าด้วยทรงแสดงอุโบสถแก่นางวิสาขา กล่าวถึงอานิสงส์ของการรักษาศีล 8 ซึ่งเหมือนกับตถตุโปสถสูตร แต่พระสูตรนี้ทรงตรัสกับ “นางวิสาขามิคารมาตา” ในบุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี

ข้อที่ #44_วาเสฏฐสูตร ว่าด้วยอุบาสกชื่อว่าวาเสฏฐะ เหมือนกันกับ วิสาขาสูตร แต่ทรงตรัสกับอุบาสกชื่อว่า “วาเสฏฐะ” ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี โดยกล่าวเสริมในตอนท้ายว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์

ข้อที่ #45_โพชฌาสูตร ว่าด้วยอุบาสิกาชื่อว่าโพชฌา เหมือนกันกับวิสาขาสูตร แต่ทรงตรัสกับอุบาสิกาชื่อว่า “โพชฌา”

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต อุโปสถวรรค


Tstamp

[04:22] สังขิตตุโปสถสูตร ว่าด้วยอุโบสถโดยย่อ
[38:06] วิตถตุโปสถสูตร ว่าด้วยอุโบสถโดยพิสดาร
[52:46] วิสาขาสูตร ว่าด้วยทรงแสดงอุโบสถแก่นางวิสาขา
[53:34] วาเสฏฐสูตร ว่าด้วยอุบาสกชื่อว่าวาเสฏฐะ
[54:20] โพชฌาสูตร ว่าด้วยอุบาสิกาชื่อว่าโพชฌา