ข้อที่ #11_จรสูตร ว่าด้วยอิริยาบถเดิน กล่าวถึงผู้ที่ปล่อยให้อกุศลวิตก 3 คือ ความคิดตริตรึกไปในทางกาม พยาบาท เบียดเบียน เกิดขึ้นในขณะที่อยู่ในอิริยาบถ 4 คือ เดิน ยืน นั่ง หรือนอน (ตื่นอยู่) และไม่พยายามละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้หมดสิ้นไป กล่าวได้ว่า “ผู้นั้นเป็นผู้เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน” ส่วนผู้ใดพยายามละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ผู้นั้นเป็น “ผู้ปรารภความเพียร” 

*ข้อสังเกต แม้มีอกุศลวิตกเกิดขึ้น แต่ไม่เพลิน ไม่ปล่อยใจให้ตกไปในอกุศล พยายามละ บรรเทาให้เบาบาง ถึงแม้ว่าจะทำอกุศลนั้นให้หมดสิ้นไปเลยยังไม่ได้ แต่ขึ้นชื่อว่า “เป็นผู้มีสติ ปรารภความเพียรอยู่” แม้ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดที่ไหนก็สามารถทำได้

ข้อที่ #12_สีลสูตร ว่าด้วยบุคคลผู้มีศีล กล่าวถึงบุคคลผู้มีสติสัมปชัญญะ สำรวมระวัง มีความเพียรในการรักษาศีลให้เต็มบริบูรณ์ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง หรือนอน ก็ตาม สามารถที่จะทำจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ เพราะศีลย่อมเป็นบาทฐานทำให้จิตเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิก็สามารถละนิวรณ์ 5 ได้ 

*ประเด็น ศีลบริบูรณ์ย่อมยังสมาธิให้บริบูรณ์ขึ้นมาได้ คือ สามารถทำสมาธิได้ในทุกอิริยาบถ

ข้อที่ #13_ปธานสูตร ว่าด้วยสัมมัปปธาน “สัมมัปปธาน” คือ ความกล้าความเพียรที่ทำจริงแน่วแน่จริง แบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือ ส่วนที่เป็นกุศล ถ้ายังไม่มีควรทำให้มี ที่มีอยู่แล้วให้ทำให้เจริญ และฝ่ายอกุศลที่มีอยู่เดิมให้ละ ที่ยังไม่มีอย่าให้เข้ามา

ข้อที่ #14_สังวรสูตร ว่าด้วยสังวรปธาน เป็นพระสูตรที่มีความเกี่ยวเนื่องสอดคล้องกับปธานสูตร เพราะกล่าวถึงวิธีในการละ ป้องกัน รักษา และทำให้เจริญ ไว้ดังนี้

  • สังวรปธาน คือ การสำรวมอินทรีย์ไม่ให้อกุศลใหม่เข้ามา 
  • ปหานปธาน คือ เพียรด้วยการละ 
  • ภาวนาปธาน คือ การพัฒนาโพชฌงค์ 7 
  • อนุรักขนาปธาน คือ เพียรรักษาสมาธินิมิตในการเห็นอสุภสัญญา เห็นอสุภแล้วยังรักษาสมาธิได้ นั่นคือรักษาได้

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต จรวรรค


Tstamp

[04:10] จรสูตร ว่าด้วยอิริยาบถเดิน
[15:46] สีลสูตร ว่าด้วยบุคคลผู้มีศีล
[35:15] ปธานสูตร ว่าด้วยสัมมัปปธาน
[46:15] สังวรสูตร ว่าด้วยสังวรปธาน