การภาวนา คือการเจริญ การพัฒนา การฝึกอบรมให้ดีขึ้น ในตอนนี้จะกล่าวถึงการภาวนา 4 ประการที่หากไม่เจริญไม่ฝึกอบรมให้ดีจะก่อให้เกิด อนาคตภัย 5 ประการ ขึ้นได้ การภาวนาทั้ง 4 ประการนี้คือ

1. กายภาวนา คือการเจริญกาย พัฒนากาย การฝึกอบรมกาย โดยการฝึกสำรวมอินทรีย์ รู้ประมาณในการบริโภค ดูแลร่างกายเพียงเพื่อให้ได้ประพฤติพรหมจรรย์ 

2. สีลภาวนา คือการเจริญศีล พัฒนาความประพฤติ การฝึกอบรมศีล โดยตั้งอยู่ในระเบียบวินัย มีความประพฤติที่ดี ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี เกื้อกูลแก่กัน 

3.จิตภาวนา คือการเจริญจิต พัฒนาจิต การฝึกอบรมจิตใจ โดยฝึกให้จิตมีสมาธิมีความมั่นคง มีที่ตั้งคือสติ เจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีเมตตา กรุณา ขยันหมั่นเพียร อดทนเข้มแข็ง และสดชื่น เบิกบาน เป็นสุขผ่องใส เป็นต้น

4. ปัญญาภาวนา คือการเจริญปัญญา พัฒนาปัญญา การฝึกอบรมปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันเห็นโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสและปลอดพ้นจากความทุกข์ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา 

หากไม่เจริญกาย เจริญศีล เจริญจิต และเจริญปัญญา จะก่อให้เกิด อนาคตภัย 5 ประการดังนี้

1.จะทำให้พระธรรม พระวินัยเลอะเลือน ทำให้ความศรัทธาเลื่อมใสลดลง

2.จะทำให้ไม่สามารถแนะนำอบรมพระ เณร รุ่นหลังเรื่องพระธรรม พระวินัยได้ถูกต้อง จะทำให้พระธรรม พระวินัยเลอะเลือน ทำให้ความศรัทธาเลื่อมใสลดลง

3.จะถลำลงสู่ธรรมที่ผิด(ธรรมดำ)โดยไม่รู้ตัว

4.จะทำให้ไม่มีใครฟังธรรมะอันลึกซึ้ง อันเป็นโลกุตระ อันประกอบด้วยสุญญตาธรรมของพระพุทธเจ้า แต่จะไปสนใจสูตรต่างๆ ที่นักกวีแต่งไว้

5.จะทำให้ภิกษุเถระประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในความล่วงละเมิด ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรม ที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ชนรุ่นหลังก็จักถือเป็นตัวอย่าง


Timestamp

[00:22] ปฏิบัติภาวนา สติปัฏฐาน
[08:47] การภาวนา 4 ประการ 2 นัยยะ
[09:32] อนาคตภัย 5 ประการ
[11:53] 1. กายภาวนา
[17:49] 2. ศีลภาวนา
[30:40] 3. จิตตภาวนา
[36:59] 4. ปัญญาภาวนา
[44:41] สมาธิภาวนา