Q: ความต่างระหว่างขันติกับอุเบกขา?
A: “ขันติ” คือ ความอดทน ท่านนิยามไว้ดังนี้ คือ อดทนต่อความร้อน ความหนาว ความหิวกระหาย อดทนต่อเหลือบ ยุง ลมแดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย อดทนต่อทุกขเวทนาอันกล้าแข็งเจ็บแสบเผ็ดร้อน อดทนต่อวาจาอันหยาบคาย “อุเบกขา” คือการวางเฉย เมื่อมีสิ่งมากระทบเราแล้ว เราสามารถวางเฉยได้ ทั้งขันติและอุเบกขาจะต้องประกอบด้วยปัญญา จึงจะกำจัดอกุศลออกไปได้ 

Q: ติดสมาธิทำให้ไม่ก้าวหน้า
A: เราต้องมีความแยบคายในการปฏิบัติ คือต้องรู้จักปรับอินทรีย์ รู้จักสังเกตคือสติ มีสติคอยปรับทุกสิ่งทุกอย่าง ปรับให้เสมอ ๆ กัน เพราะถ้าทำความเพียรอย่างเดียว ก็จะเป็นไปด้วยความฟุ้งซ่าน ถ้าทำสมาธิ (หมายถึงความสงบ) อย่างเดียว ก็จะเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ถ้าทำอุเบกขาอย่างเดียว ก็จะไม่ทำให้สิ้นอาสวะโดยชอบได้ สติจึงเป็นเครื่องหมาย เป็นกำลัง ให้ระลึกได้ จึงต้องฝึกสติให้มีกำลังและรู้จักปรับอินทรีย์ให้เสมอ ๆ กัน

Q: เพราะไม่รู้จึงไปต่อไม่ได้
A: พอเราเพลินไปในสมาธิ ก็คือเราเผลอสติแล้ว สติเราไม่มีกำลัง เราต้องฝึกสติเพื่อให้ตนเตือนตน เมื่อเรามีสติก็จะระลึกได้และเห็นด้วยปัญญาว่า สมาธิไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เพราะทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ควรหรือที่เราจะยึดถือว่าสมาธิเป็นตัวเราของเรา เราควรปล่อยวาง ไม่ยึดถือในมัน เห็นตรงนี้ด้วยปัญญา ทำบ่อย ๆ เข้าและออกบ่อย ๆ จะพัฒนาไปต่อได้

Q: กรรมเกิดจากอะไร?
A: กรรมคือเจตนาอันมีเหตุเกิดจากผัสสะ

Q: ถ้ากรรมเกิดจากผัสสะแล้วกรรมจะส่งผลได้อย่างไร?
A: ถ้าเจตนาที่เราทำทางกาย วาจา ใจ เป็นฝ่ายของบาป จะให้ผลเป็นทุกข์ ถ้าเจตนาที่ทำเป็นฝ่ายของบุญ ก็จะให้ผลเป็นสุข แต่ถ้าเจตนาที่เราทำเป็นส่วนแห่งอเนญช คือไม่ใช่ทั้งบุญ ไม่ใช่ทั้งบาป ก็จะเป็นส่วนแห่งการที่จะไม่ให้เราได้มารับว่าเป็นสุขหรือทุกข์ ก็จะเป็นการสิ้นกรรมได้ ซึ่งเราจะรับรู้ทุกข์สุขได้ ก็ด้วยการรับรู้ผ่านทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรา

Q: แก้กรรมหรือสิ้นกรรม
A: ท่านใช้คำว่า “สิ้นกรรม” และปฏิปทาที่จะทำให้ถึงความสิ้นกรรมได้คือมรรค 8


Tstamp

[02:00] ความต่างระหว่างขันติกับอุเบกขา?
[14:10] ติดสมาธิทำให้ไม่ก้าวหน้า
[27:40] เพราะไม่รู้จึงไปต่อไม่ได้
[41:00] กรรมเกิดจากอะไร?
[42:00] ถ้ากรรมเกิดจากผัสสะแล้วกรรมจะส่งผลได้อย่างไร?
[48:56] แก้กรรมหรือสิ้นกรรม