Q: ขณะฟังธรรมต้องแยกจิตเพื่อไปดูจิตที่เป็นกุศลธรรมนั้นด้วยหรือไม่?
A: ถ้าทำหลายอย่างจะสับสน ให้เอาสติไว้เป็นสิ่งแรก ถ้าจิตยังไม่สงบ ต้องอาศัยการสังเกตคือสติ เอาจิตจดจ่อลงไป เมื่อมีสติ จิตระงับลง ๆ จิตสงบ ก็ฟังเทศน์ไปด้วย คิดใคร่ครวญไปด้วย แต่หากเราจดจ่อเรื่องใดมากเกินไป เราจะไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย ก็จะไม่ได้ฟังเทศน์ เพราะฉะนั้นให้เอาตรงที่การรับรู้คือวิญญาณของเรา เอาตรงการรับรู้ของจิตของเรา

Q: นั่งสมาธิ มีคำบริกรรมดีหรือไม่มีดีกว่ากัน?
A: ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่จุดไหน ถ้าเรายังไม่ได้สมาธิ การมีคำบริกรรมจะช่วยได้ แต่ถ้าทำสมาธิได้ชำนาญแล้วไม่ต้องมีคำบริกรรมจะดีกว่า เพราะการที่ยังมีวิตกวิจารนั้นเป็นสมาธิขั้นต้นแต่ถ้าทำสมาธิได้ลึกขึ้นแล้วจะสงบ วิตกวิจารจะหายไป ไม่มีคำบริกรรม

Q: จุดเริ่มของการปฏิบัติคืออะไร?
A: เริ่มจากจุดที่เรามีอยู่แล้วคือ “ศรัทธา” พอเราตั้งไว้ซึ่งศรัทธา จะทำให้มีการทำจริงแน่วแน่จริง คือวิริยะ คือจะทำให้เรามีศีลแล้วสติจะเกิดขึ้น ตั้งเจตนาไว้ในศีล 5 เป็นสีลลานุสสติ ให้เริ่มจากจุดที่เราทำได้ 

Q: ทำอินทรีย์ 5 ให้แข็งแกร่งได้อย่างไร?
A: เริ่มจาก “ศรัทธา” ในที่นี้หมายถึงศรัทธาในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในวิธีการที่จะทำให้ถึงการตรัสรู้นั้น และมั่นใจในการปฏิบัติว่าถ้าใครปฏิบัติแล้วก็จะทำได้เหมือนกัน พอเรามีความมั่นใจคือศรัทธา เกิดการลงมือทำจริงแน่วแน่จริงคือ “วิริยะ” หากศรัทธา วิริยะ หย่อนหรือเกินไปมาก ก็ปรับให้สมดุลกัน การปรับนี้คือ “สติ” เมื่อสมดุลกันแล้วจะทำให้เกิด “สมาธิ” เกิดความเข้าใจเฉพาะอย่างคือ “ปัญญา” พอเกิดปัญญาก็จะยิ่งทำให้เรามั่นใจมากขึ้น ๆ ทำวนไป ๆ สมาธิละเอียดลง ๆ ปัญญาจะละเอียดลง ๆ ก็จะพัฒนาก้าวหน้าแข็งแกร่ง ขึ้นอย่างนี้

Q: เมื่อนั่งสมาธิจนไม่มีความคิดควรทำอย่างไรต่อ?
A: สำหรับคนที่ตรัสรู้ธรรมเมื่อมาถึงจุดนี้ จะเอาความสงบนั้นเป็นวิหารธรรมก็ได้ สำหรับคนที่ยังไม่ตรัสรู้ ต้องการทำให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป การพัฒนาตรงนี้จะทำให้เราจะไปต่อได้ เราต้องคอยสังเกตให้ดี ถ้าไม่เห็นรอยต่อมันจะไปต่อไม่ได้ รอยต่อระหว่างสิ่งต่าง ๆ ในช่องทางใจมันคือผัสสะ ถ้ามีผัสสะที่ไหน มีรอยต่อตรงนั้น เพราะฉะนั้นให้หารอยต่อตรงที่เห็นความไม่เที่ยงของความสงบ เช่นเดียวกันสมาธิก็เป็นของไม่เที่ยง จะเห็นโทษของสมาธิขั้นก่อนก็ได้ หรือเห็นความเกิดดับของสมาธิขั้นปัจจุบันก็ได้ ที่ไม่เห็นเพราะเราเพลินไป พอเราเข้าสมาธิลึก ๆ ให้เห็นว่าตรงนี้มันไม่เที่ยง ทำซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ นี่คือจุดที่เราจะไปต่อ มันก็จะละเอียดลงๆ สมาธิเราจะลึกขึ้น ๆ หรือเป็นอนาคามี อรหันต์ เห็นความไม่เที่ยงแล้วปล่อยวางได้ ละอาสวะได้

Q: วิตกและวิจารต่างกันอย่างไร?
A: ในภาษาบาลี ถ้าเป็นความคิดที่โผล่ขึ้นมาเอง เรียกว่า “สังกัปปะ” ถ้าเป็นความคิดที่ต้องตริตรึกไป นึกน้อมไป เรียกว่า “วิตกวิจาร” วิตกแปลว่าความตรึก คือเรื่องราวที่คุณคิด วิจารแปลว่าความตรอง คือเรื่องที่ลงรายละเอียดลึกลงไป เพิ่มลงไป


Tstamp

[06:26] ขณะฟังธรรมต้องแยกจิตเพื่อไปดูจิตที่เป็นกุศลธรรมนั้นด้วยหรือไม่?
[17:50] นั่งสมาธิ มีคำบริกรรมดีหรือไม่มีดีกว่ากัน?
[20:42] จุดเริ่มของการปฏิบัติคืออะไร?
[25:36] ทำอินทรีย์ 5 ให้แข็งแกร่งได้อย่างไร?
[33:22] เมื่อนั่งสมาธิจนไม่มีความคิดควรทำอย่างไรต่อ?
[44:48] วิตกและวิจารต่างกันอย่างไร?