Q : มีวิธีสร้างพลังใจให้เข้มแข็งได้อย่างไร?
A : การที่เราจะทำให้ใจของเราให้มั่นคงเข้มแข็งได้ ลักษณะความเข้มแข็งแน่วแน่ตรงนี้คือ “อินทรีย์พละ” มี 5 อย่าง เริ่มด้วย พลังศรัทธา พลังวิริยะ พลังสติ พลังสมาธิ และพลังปัญญา ทั้ง 5 อย่างนี้ต้องมาด้วยกัน หากมีแค่ศรัทธาและความเพียร เราจะต้านกระแสได้ไม่นาน สติ สมาธิ และปัญญา จะเป็นตัวประกอบที่จะทำให้สม่ำเสมอต่อเนื่องไปได้
ที่สำคัญคือเราอย่าไปผิดทาง เราต้องตั้งศรัทธาไว้ให้ถูกต้อง คือตั้งศรัทธาไว้ในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในคำสอน ในการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และในเรื่องกรรม ว่าทำกรรมดีได้ดี ทำกรรมชั่วได้ชั่ว ทำกรรมอย่างไรจะได้รับผลของกรรมอย่างนั้น หลักการนี้จะทำให้จิตเรามีพลังใจที่เข้มแข็งมั่นคงไม่ไปตามกระแสที่ผ่านเข้ามา
Q : ความสงบใจเกิดขึ้นได้อย่างไร?
A : ลักษณะของจิตคือเศร้าหมองได้ ผ่องใสได้ ตามแต่ผัสสะที่ผ่านเข้ามาในช่องทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อมีผัสสะมากระทบแล้ว จิตคล้อยตามไป ก็จะปรุงแต่งออกมาเป็น ราคะ โทสะ โมหะ ตามแต่สิ่งที่เข้าไปเสวยอารมณ์นั้น ซึ่งจิตไม่รู้ว่าไม่ต้องปรุงแต่งก็ได้ การที่จิตไม่รู้ ว่ามันไม่ต้องปรุงแต่งก็ได้ นั่นคือ “อวิชชา” คือความไม่รู้ ถ้าจิตรู้ว่าไม่ต้องไปเสวยอารมณ์นั้นก็ได้ เขาก็จะไม่คล้อยไปตามผัสสะที่ผ่านเข้ามา
การที่จะทำ “วิชชา” ให้เกิดขึ้นได้ ต้องมีองค์ประกอบแห่งการตรัสรู้ธรรมคือ “โพชฌงค์ 7” เหตุของโพชฌงค์ คือ “สติปัฎฐาน 4” เราต้องตั้งสติขึ้น เหตุของสติคือ การมีศรัทธาที่ถูกต้อง มีความเชื่อความมั่นใจ มีการลงมือทำจริงแน่วแน่จริง ตั้งสติไว้ แล้วปรุงแต่งแบบนี้ คอยสังเกต เราจะค่อยแยกแยะ แยกตัวออกจากการปรุงแต่งที่ไม่ดี สติ สมาธิของเราก็จะมีกำลังมากขึ้น เป็นไปตามกระบวนการของโพชฌงค์ เป็นกระบวนการทำงานที่จะทำให้จิตสงบ
Q : ลักษณะผู้ได้ฌานและฌานสำคัญอย่างไร?
A : “ฌาน” คือ การเพ่งจดจ่อตรงที่เป็นกุศลธรรมโดยไม่บังคับ มีความหยาบละเอียดไม่เท่ากัน เรียงจากหยาบไปละเอียดก็คือ ฌาน 1-4 และในฌานทั้ง 4 ระดับ ในแต่ละระดับยังมีความมั่นคงลงไป 3 ลักษณะ คือ 1) “ขณิกะ” คือจดจ่อได้ชั่วขณะ 2) “อุปจาร” คือเป็นพื้นฐานได้ และ 3) “อัปปนา” คือลึกมั่นคงแน่วแน่
ทั้ง 3 แบบสามารถเกิดขึ้นได้ในทั้ง 4 ฌานนี้ ซึ่งไม่ว่าจะขั้นใดให้เอาให้ลึกถึงที่สุด จึงจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ได้ฌาน ท่านกล่าวไว้ว่า “ธรรมทั้งปวงมีสติเป็นอธิบดี มีสมาธิเป็นหัวหน้า มีปัญญาเป็นอันดับสูงสุด มีวิมุตเป็นแก่น มีอมตะเป็นที่หยั่งลง มีนิพพานเป็นที่สุดจบ” เพราะฉะนั้น ฌานคือสมาธินั้นสำคัญมาก เราจึงต้องฝึก ถ้าไม่มีต้องทำให้มี เพราะเมื่อฝึกแล้วทำแล้วจะมีนิพพานเป็นที่สุดจบ
Q : ประชาสัมพันธ์งาน ขุมทรัพย์แห่งใจ
A : กิจกรรมพบปะผู้ฟังประจำปี “ขุมทรัพย์แห่งใจ” เพื่อเป็นมงคลปีใหม่ เพิ่มพูนความหวังและปัญญา วันอาทิตย์ที่ 26 ม.ค. 68 เวลา 09.00-15.30น. (เริ่มลงทะเบียน 8.00น.) ณ. ศูนย์ปฏิบัติการแพร่ภาพออกอากาศฯ ชั้น 4 สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ถ.วิภาวดีรังสิต ลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ http://panya.org/newyear
Tstamp
[03:26] มีวิธีสร้างพลังใจให้เข้มแข็งได้อย่างไร?
[19:15] ความสงบใจเกิดขึ้นได้อย่างไร?
[39:12] ลักษณะผู้ได้ฌานและฌานสำคัญอย่างไร?
[54:24] ประชาสัมพันธ์งาน “ขุมทรัพย์แห่งใจ”