สูญเสียคนในครอบครัว
ผู้ฟังท่านนี้สูญเสียคุณพ่อคุณแม่ มีความเสียใจ จิตใจเศร้าหมอง ไม่เป็นสุข ส่งผลให้มองเรื่องอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตไม่ดีไปด้วย

  • จิตใจแบบนี้ อุปมาเหมือนฝีกลัดหนอง โดนแผลนิดเดียวก็เจ็บ เมื่อมีผัสสะมากระทบนิดเดียวจะได้รับความกระเทือนใจมาก
  • จิตตริตรึกเรื่องไหน จิตจะน้อมไปทางนั้น จิตน้อมไปทางไหน สิ่งนั้นจะมีพลัง หากเศร้าหมอง เสียใจ จิตก็จะเห็นแต่สิ่งนั้น สิ่งนั้นก็จะมีกำลังให้จิตน้อมไปทางนั้นมากขึ้น ส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย อาจพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าได้
  • วิธีแก้ คือ ต้องมีอำนาจเหนือจิต

ความเคยชินของจิต กับ ลูกศรอาบยาพิษ

  • “ลูกศรอาบยาพิษ” เปรียบได้ดังนี้
    หัวลูกศร = ความรัก ความเพลิน ตัณหา (รูป รส กลิ่น เสียง)
    ยาพิษที่เคลือบไว้ = อวิชชา
    ช่องทางที่แทงเข้ามา = ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
    ตัวรับลูกศร = จิต
  • อำนาจเหนือจิต จะเกิดขึ้นได้ ต้องทวนกระแสให้ความเคยชินของจิตอ่อนลง

วิธีแก้ลูกศรอาบยาพิษ

  • ตรวจว่าถูกแทงตรงไหน, เปิดปากแผลออกด้วยมีดที่คมและสะอาด, เอาหัวลูกศรออก, บีบหนองออกให้หมด, ทายา, สมานแผลปิดแผล, ไม่กินของแสลง

โพชฌงค์ 7

  • คือ องค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ธรรม เพื่อให้จิตเกิดความรู้คือวิชชา เกิดความพ้นคือวิมุตติ เพื่อให้วิชชานั้นดับอวิชชา ก็จะพ้นจากความทุกข์ได้
  • โพชฌงค์ 7 มีเหตุปัจจัย คือ
  1. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ = วางเฉยต่อสิ่งที่มากระทบ มีสมาธิเป็นเหตุ
  2. สมาธิสัมโพชฌงค์ = จิตที่ตั้งมั่นเป็นอารมณ์อันเดียว มีความระงับลงของจิตเป็นเหตุ
  3. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ = ความระงับลงของจิต มีปีติเป็นเหตุ
  4. ปีติสัมโพชฌงค์ = ความสุขอยู่ในภายในไม่ต้องพึ่งสิ่งภายนอก มีกุศลธรรมในจิตเพิ่ม อกุศลธรรมในจิตลดเป็นเหตุ
  5. วิริยสัมโพชฌงค์ = กุศลธรรมในจิตเพิ่ม อกุศลธรรมในจิตลด มีการใคร่ครวญธรรมด้วยปัญญาเป็นเหตุ
  6. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ = การใคร่ครวญธรรมด้วยปัญญา โดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) มีสติ เป็นเหตุ
  7. สติสัมโพชฌงค์ = ความระลึกได้

อำนาจเหนือจิต เริ่มด้วย “สติ”

  • การเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ต้องอาศัยความกล้าและความเพียร โดยมีอาวุธ คือ “สติ”
  • สติ ตั้งขึ้นได้ด้วยการระลึกถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งท่านมีความปรารถนาให้พวกเราพ้นทุกข์ แผ่ความเมตตากรุณาข้ามระยะทาง ข้ามเวลา ผ่านทางคำสอนมาถึงพวกเราทุกวันนี้ เรายังคงได้รับกระแสแห่งความเมตตากรุณาของพระพุทธเจ้าอยู่ ให้เราเอาตรงนี้เป็นหลักชัย เป็นหลักประกัน ใช้สติระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นชัยภูมิ เป็นฐานตั้งมั่น ในการเผชิญหน้ากับความจริงของชีวิตว่า ทุกคนมีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา ไม่ใช่แค่คนในครอบครัวเรา โดยระลึกว่าหากท่านอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ จิตของท่านจะเป็นแบบใด ถ้าจิตของท่านยังดีอยู่ได้ในสถานการณ์ที่สูญเสียคนที่รัก เราจะเอาเสี้ยวส่วนของความสามารถในการรักษาจิตของท่านมาไว้ในจิตเรา
  • การระลึกถึงพระพุทธเจ้า ทำให้ความเพลิน ความเศร้าลดลง เปรียบได้กับฝนหนึ่งเม็ด เม็ดฝนแต่ละหยดสามารถทำให้น้ำทะเลพร่องหรือเต็มได้ สติแม้น้อยหนึ่งก็ทำให้มีอำนาจเหนือจิตได้เช่นกัน
  • สติเป็นเครื่องตรวจหาลูกศรว่าถูกแทงตรงไหน ทุกข์เรื่องไหนให้เอาจิตไปจ่อที่ตรงนั้น ตั้งสติตรงนั้น โดยสังเกตเฉย ๆ ว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจ แล้วพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงว่าสิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว มีความเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขปัจจัยได้ เราต้องพลัดพรากจากสิ่งนั้นแน่นอน ปัญญาก็จะเกิด อวิชชาก็จะลดลง จิตมีความผ่องใสขึ้น ทำบ่อย ๆ ก็จะวางอุเบกขาในเรื่องนั้นได้ จิตก็จะพ้นจากทุกข์ได้
  • เรื่องที่ไม่น่าพอใจ หากพิจารณาด้วยสติที่มีกำลังมาก สิ่งนั้นจะมีอำนาจเหนือจิตลดลง เปรียบกับสัตว์หกชนิดถูกผูกไว้ที่เสาหลัก ดึงไปไหนไม่ได้ สุดท้ายก็จะอ่อนกำลังลง

Tstamp

[03:50] ไต่ตามทาง: สูญเสียคนในครอบครัว
[17:00] พุทธภาษิต เรื่อง “อัจฉริยบุคคล”
[18:30] ความเคยชินของจิต กับ ลูกศรอาบยาพิษ
[33:10] วิธีแก้ลูกศรอาบยาพิษ
[37:20] โพชฌงค์ 7
[44:20] อำนาจเหนือจิต เริ่มด้วย “สติ”