ในมุมมองของคนที่มักโกรธ พอโกรธหรือไม่พอใจใครแล้ว ก็จะมองคน ๆ นั้นด้วยความเป็นศัตรูทันที เขาจึงเห็นว่าความโกรธมีเพื่อที่จะทำให้ตนเองรู้สึกดี เพราะเขาจะมีความมุ่งหมาย 7 ประการนี้แก่ผู้เป็นศัตรู คือ 1) หวังให้เขามีผิวพรรณทราม 2) หวังให้เขาเป็นทุกข์ 3) หวังให้เขาไม่มีความเจริญ 4) หวังให้เขาปราศจากโภคทรัพย์ 5) หวังให้เขาปราศจากยศตำแหน่ง 6) หวังให้เขาปราศจากเพื่อน และ 7) หวังให้เขาตกนรกโดยเร็ว
ก็แล้วทำไมคนที่มักโกรธจึงจะมีทุกข์มีปัญหา? พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนใน “โกธนสูตร” ว่า บุคคลผู้มักโกรธนั้น มีผิวพรรณทราม นอนเป็นทุกข์ ได้ความเจริญแล้วก็ยังถึงความเสื่อม บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำ ทำการเข่นฆ่าทางกาย วาจา ย่อมประสบความเสื่อมทรัพย์ บุคคลผู้มัวเมาด้วยความมัวเมาเพราะโกรธ ย่อมถึงความเสื่อมยศ ญาติมิตรและสหาย ย่อมหลีกเว้นบุคคลผู้มักโกรธความโกรธก่อความเสียหาย ความโกรธทำจิตให้กำเริบ บุคคลผู้มักโกรธย่อมไม่รู้ภัยที่เกิดจากภายใน บุคคลผู้โกรธย่อมไม่รู้อรรถ บุคคลผู้โกรธย่อมไม่เห็นธรรม ความโกรธครอบงำนรชนในกาลใด ความมืดย่อมมีในกาลนั้น บุคคลผู้โกรธย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยากเหมือนทำได้ง่าย ภายหลังเมื่อหายโกรธแล้ว เขาย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้ บุคคลผู้โกรธย่อมแสดงความเก้อยากก่อน เหมือนไฟแสดงควันก่อน ความโกรธเกิดขึ้นในกาลใด คนทั้งหลายย่อมโกรธในกาลนั้น บุคคลผู้โกรธไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีคำพูดที่น่าเคารพ บุคคลผู้ถูกความโกรธครอบงำไม่มีความสว่างแม้แต่น้อยฯ
เพื่อไม่ให้ได้รับโทษจากความโกรธนั้น เราก็ไม่ควรโกรธใคร ๆ เลย แม้จะมีเหตุผลที่น่าโกรธจริง ๆ ก็ไม่ควรโกรธอยู่ดี พระพุทธเจ้าท่านได้ทำเป็นตัวอย่างแล้ว ในจิตใจของท่านมองเห็นทุกคนด้วยความไม่เป็นศัตรู มองเห็นทุกคนด้วยความเป็นมิตร ไม่โกรธใครเลย แม้เขาจะทำไม่ดีก็ตาม ดังเช่น พระพุทธองค์ไม่โกรธพระเทวทัต แต่บอกอานิสงส์ที่ทำดีแล้วจะได้ผลดีอย่างนี้ ๆ บอกโทษของการทำไม่ดีแล้วจะได้ผลไม่ดีอย่างนี้ ๆ ท่านก็แสดงไปตามเหตุผล
ความโกรธเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? พระพุทธเจ้าตรัสบอกเอาไว้ใน “มหานิทานสูตร” ว่า ที่เรามาถึงจุดที่ลงมือลงไม้ด่าว่ากัน คิดประทุษร้ายกันได้ เหล่านี้ทั้งหมดนั้นเรียกว่า “เรื่องราวที่เกิดจากการหวงกั้น” ซึ่งอาศัยความตระหนี่จึงทำให้เกิดการหวงกั้น เพราะมีความยินดี รักใคร่ จับอกจับใจคือยึดติดแล้ว จึงมีความตระหนี่ได้ และเพราะความสยบมัวเมา ลุ่มหลง ปลงใจรัก ในสิ่งที่แสวงหา (ความอยากคือตัณหา) จิตเราจึงเป็นทาสของสิ่งนั้น ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลินคือโมหะ จึงเป็นรากฐานของโทสะ ราคะ นั่นเอง สิ่งนี้จึงต้องระวัง แม้แต่ความดี เรายังโกรธเพราะการแสวงหาความดีได้ เป็นอุปัทวะ (อันตราย) คือถ้ามีคนทำไม่ดี ยังยึดติดในความดีนี้อยู่ไหม ในนามของความดี ฉันขอทำชั่ว ไปโกรธคนทำไม่ดีนั้น มันก็ไม่ได้เรื่อง
ไล่ลำดับขั้นของความโกรธในทางจิตใจ เริ่มจาก มีความยินดี (รติ) ความไม่ยินดี (อรติ) —> ความไม่พอใจ ความขัดเคือง (ปฏิฆะ)—> แต่ถ้ายังหยุดไม่ได้ก็จะกลายเป็น ความโกรธ (โกธะ) —> และเมื่อเพลินไปในความโกรธนั้น ก็จะนำไปสู่ โทสะ มันจึงเริ่มออกมาภายนอกเป็นการกระทำทางวาจา ทางกาย คิดประทุษร้ายลงมือลงไม้ เริ่มเป็นกรรมแล้ว ที่จะทำให้เกิดอาสวะ เป็นการผูกพยาบาทข้ามภพข้ามชาติได้ ดังนั้นถ้าเรามีเงื่อนไขของความสุขมาก มันก็จะทุกข์ทันที
Timestamp
[00:36] ปฏิบัติด้วยการเจริญเมตตาภาวนา
[08:06] เข้าใจเรื่องของความโกรธ | “โกธนสูตร”
[12:40] คนโกรธมีความมุ่งหมาย 7 ประการ
[37:55] ความโกรธเกิดขึ้นได้อย่างไร? | “มหานิทานสูตร”
[46:42] ลำดับขั้นของความโกรธ