ช่วงไต่ตามทาง : ธรรมอันเป็นเครื่องป้องกันความขลาด

– คุณแม่สมบูรณ์อายุ 80 ปี ทางด้านร่างกายได้รับการดูแลอย่างดีจากลูกหลาน แต่ด้านจิตใจมีความร้อนใจ มีความกังวลใจในลูกหลานมาก จึงให้สมาทานพระรัตนตรัยและสมาทานศีล เมื่อมีศีลแล้วก็จะไม่มีความร้อนใจ แต่จะอยู่ได้นานแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับกำลังของสติ จึงให้ภาวนา “พุทโธ” เพื่อเป็นหลักกำหนดสติ ให้จิตมีสติตั้งไว้ พร้อมกับให้มีปัญญาร่วมด้วย ศีลกับปัญญาจะทำให้เกิดสมาธิได้

– วิธีขจัดความกังวลใจในเรื่องต่าง ๆ

  (1) กังวลใจในสิ่งของ = ให้เข้าใจว่า “สิ่งทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง” ให้คลายความกังวลผูกพันต่อสิ่งนั้น

  (2) กังวลใจในบุคคล = ให้เข้าใจว่า “สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ให้คลายความกังวลในบุคคลนั้น

  (3) กังวลใจในกายของตน = ให้เข้าใจว่า “กายนี้เป็นของที่เกิดมาจากธาตุดินน้ำลมไฟ มีความแตกไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา อย่าไปยึดถือกังวล เปรียบเหมือนภาชนะหม้อดินที่เก่าแล้วมีรอยรั่ว หันไปเอาภาชนะทองคำดีกว่าซึ่งเปรียบได้กับกายของเทวดา”

  (4) กังวลใจในชาติภพหน้าของตน = ให้เข้าใจว่า “ถ้ามีกรรมดี ก็จะไปในที่ที่ดี” ก็จะไปสวรรค์ได้ ให้นึกถึงทาน นึกถึงศีลที่ตนเคยทำไว้ และหากเจริญ “เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา” ก็จะไปพรหมโลกได้ เมื่อจิตชุ่มเย็นไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แล้ว ให้เห็นว่า “กายและใจ รูปและนาม ในตัวของเรา มันไม่ใช่ของเรา ให้ปล่อยวาง”

– การทำความเข้าใจเป็นขั้นตอนในเรื่องเหล่านี้ ผลที่ตามมาคือจะมีธรรมะเป็นเครื่องป้องกันความขลาดทำให้จิตไม่มีความกลัว ไม่มีความกังวลได้ 

ช่วงปรับตัวแปรแก้สมการ : สมบัติ 3 ประการ

– ทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ยังมีสมบัติอื่นที่มีคุณค่ามากกว่า และคุณค่านั้นไม่แปรเปลี่ยนไปตามค่านิยมของสังคม ความเข้าใจในเรื่องคุณค่าของสมบัตินี้จะทำให้เราไม่ถูกหลอก

– สมบัติแบ่งเป็น 3 ระดับ

  (1) มนุษยสมบัติ (เสื่อมได้) = รัตนะ 7 อย่าง ฤทธิ์ 4 อย่าง ได้มาโดยการทำมาหากินหรือลงทุน

  (2) ทิพยสมบัติ (เสื่อมได้) = อาหารทิพย์ อากาศเย็นสบายตลอดเวลา ได้มาโดยการทำทาน รักษาศีล

  (3) นิพพานสมบัติ (ไม่มีความเสื่อมปรากฏ) = เป็นสมบัติที่มีคุณค่ามาก ประณีตกว่า และยั่งยืนกว่า ได้มาโดยการเจริญภาวนาเห็นความไม่เที่ยง 

– อริยทรัพย์ 7 ประการ ที่จะนำมาซึ่งทิพยสมบัติและนิพพานสมบัติ อันเป็นทรัพย์ที่ไม่เป็นสาธารณะกับผู้อื่น ได้แก่

  (1) ศรัทธา = ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

  (2) ศีล

  (3) หิริ = ความละอายต่อบาป

  (4) โอตตัปปะ = ความเกรงกลัวต่อบาป

  (5) พาหุสัจจะ = การศึกษาเล่าเรียน 

  (6) จาคะ = การสละออก ซึ่งจะได้รับผลมากหรือน้อย พิจารณาจากทานสมบัติ 3 ประการ คือ 1. ผู้รับมีคุณธรรมดีเป็นเนื้อนาบุญ 2. สิ่งของที่ให้บริสุทธิ์ และ 3. มีจิตตั้งใจให้

  (7) ปัญญา

– ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เราสามารถสร้างอริยทรัพย์เพื่อเป็นเหตุให้ได้มาซึ่งทิพยสมบัติและนิพพานสมบัติได้อยู่ตลอด ซึ่งสามารถทำไปพร้อมกับการสร้างมนุษยสมบัติได้


Tstamp

[03:30] ไต่ตามทาง: เครื่องป้องกันความขลาด
[19:19] พุทธภาษิต เรื่อง “พระพุทธเจ้าทรงสง่าด้วยพระเดช”
[21:45] ปรับตัวแปรแก้สมการ: สมบัติ 3 ประการ
[39:53] สมบัติแบ่งเป็น 3 ระดับ
[43:35] อริยทรัพย์ 7 ประการ
[53:25] ทานสมบัติ 3 ประการ