พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง หลักคำสอนและวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ สรุปเป็นใจความสำคัญว่าไว้ 3 ขั้น คือ ให้ละเว้นความชั่ว ให้ทำความดี และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ นี่คือเส้นทางที่จะนำไปสู่ทางหลุดพ้นได้ ซึ่งในครั้งนี้จะกล่าวถึงหลักธรรมที่เป็นขั้นของการชี้แนวทางแห่งโลกุตระ นั่นคือเบญจศีลและเบญจธรรม

เบญจศีลและเบญจธรรม เป็นธรรมคู่กัน คนที่มีเบญจธรรมจึงจะเป็นผู้มีเบญจศีล ซึ่งหากคนมีศีลและธรรมดังกล่าวแล้ว จะเว้นจากการทำความชั่ว รู้จักควบคุมตนให้ตั้งอยู่ในความดี ไม่เบียดเบียนตนและคนอื่น และประพฤติชอบทางกาย วาจา ใจ 

เบญจศีล คือ ศีล 5 ข้อ เป็นการรักษาเจตนาที่จะควบคุมกายและวาจาให้เป็นปกติ คือ ไม่ทำบาป โดยการละเว้น 5 ประการ คือ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ ละเว้นจากการลักขโมย ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ละเว้นจากการพูดปด ละเว้นจากการเสพสุรา

เบญจธรรม เป็นหลักธรรมที่ควรปฏิบัติ มี 5 ประการ ได้แก่

  1. เมตตากรุณา คือ บุคคลใดที่มีเมตตาย่อมไม่ฆ่า หรือเบียดเบียนสัตว์ เมตตากรุณาจึงเป็นจิตที่สามารถเพิ่มพูนพัฒนาได้จากการเว้นจากการฆ่า 
  2. สัมมาอาชีวะ คือ ประกอบอาชีพที่สุจริต มีรายได้ รู้จักใช้จ่าย และที่สำคัญรู้จักคำว่าพอดี และมีหิริโอตตัปปะ คือ ความละอาย และเกรงกลัวต่อผลของบาป จึงทำให้ไม่ลักขโมยของผู้อื่น
  3. กามสังวร คือ ความสำรวมอินทรีย์ ระมัดระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ทำให้ ความใคร่ในกามคุณ คือ การติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ลดน้อยลง เมื่อความสำรวมเกิดขึ้น จึงทำให้ไม่ประพฤติผิดในกาม
  4. สัจจะ คือ การพูดความจริง เป็นสิ่งที่ทำให้ไม่เกิดการมุสาวาท 
  5. สติสัมปชัญญะ คือ การรู้สึกตัว การไม่ประมาท เพราะรู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว ทำให้ไม่เกลือกกลั้วกับสิ่งที่จะทำให้ชีวิตตกต่ำ เช่น สุราที่เมื่อคนดื่มกินก็ทำให้มึนเมาและขาดสติ 

Tstamp

[00:18] ปฏิบัติภาวนา กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
[12:43] เบญจศีล-เบญจธรรม
[24:33] เบญจธรรม
[25:29] ละเว้นจากการฆ่าสัตว์-มีความเมตตากรุณา
[33:18] ละเว้นจากการลักทรัพย์- ประกอบอชีพสุจริต รู้จักใช้จ่าย
[41:25] ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม-สำรวมอินทรีย์
[48:55] ละเว้นจากการพูดโกหก มีความซื่อสัตย์ พูดความจริง
[52:49] ละเว้นจากการดื่มสุรา-การมีสติสัมปัชัญญะ