ช่วงไต่ตามทาง: อดทน คือ ทุกสิ่ง

– ผู้ฟังจาก กทม.-เป็นเด็กกำพร้า ถูกกระทำ และถูกต่อว่าให้เจ็บช้ำน้ำใจมาตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยความอดทนทำให้ผ่านเหตุการณ์ทุกอย่างมาได้ จึงเข้าใจดีว่า ความอดทนเป็นทุกสิ่ง และยังเข้าใจอีกว่า การไม่ตอบโต้ ไม่ใช่เพราะความกลัว แต่เป็นเพราะความอดทน ซึ่งเป็นปัญญา แยกแยะได้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี สิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ สิ่งไหนเป็นกุศล สิ่งไหนเป็นอกุศล ปัจจุบันมีชีวิตที่มีความสุข ประสบความสำเร็จ

– ผู้ฟังจากฉะเชิงเทรา-เมื่อได้ฟังธรรมะ ทำให้เข้าใจว่า การรบที่ยอดเยี่ยมที่สุด คือ การชนะกิเลสในจิตใจตนเอง เป็นชัยชนะที่ไม่ต้องออกรบ การอดทน ไม่ใช่เรื่องโง่ เป็นชัยชนะที่ใครก็เอาไปจากเราไม่ได้

ช่วงปรับตัวแปรแก้สมการ: ความอิจฉาในที่ทำงาน

– อารมณ์ 3 ประเภท 1. อิจฉาริษยา 2. เย่อหยิ่งจองหอง 3. ความตระหนี่หวงกั้น มีความเกี่ยวข้องกัน

ตัวอย่าง 1 เมื่อเราได้เลื่อนตำแหน่ง ได้ดีกว่าคนอื่น เราจะมีความเย่อหยิ่งเกิดขึ้น ส่วนเพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้ ก็จะมีความอิจฉาริษยาเราขึ้นมา

ตัวอย่าง 2 เรามีรถ ส่วนเพื่อนไม่มี ต่อมาเพื่อนมีรถเหมือนกับเรา เราเกิดความไม่พอใจ อิจฉาริษยาเขา ทั้งที่เราไม่ได้มีน้อยลง แต่ไม่อยากให้เขามี อย่างนี้เป็นความตระหนี่เกิดขึ้น

– ความดีต่อความดีได้ ความชั่วต่อความชั่วได้ เปรียบกับการต่อเทียน-เทียนที่สว่าง แต่อยู่แวดล้อมไปด้วยเทียนที่ไม่สว่าง (พวกอวิชชาทั้งหลาย) บริเวณนั้นก็จะมืดลง มิตรที่ดี (กัลยาณมิตร) เมื่อต่อความดีกัน ความดีก็จะต่อกันไปอีกเรื่อย ๆ มากขึ้น สว่างขึ้น ส่วนมิตรไม่ดี (ปาปมิตร) ก็จะส่งต่อความไม่ดีมาให้ แม้ว่าตัวเราจะมีแสงสว่าง แต่ถ้ารอบ ๆ ไม่ดี มีแต่ความมืด ความมืดนั้นก็โดนเราบ้าง เราก็ได้รับการเบียดเบียนบ้าง

– การไม่คบคนพาล จึงเป็นมงคลข้อแรกในมงคลสูตร มงคลข้อต่อมา คือ ให้คบบัณฑิต คือ ให้คบกัลยาณมิตร มีความฉลาด มีความรอบรู้ มีปัญญาเห็นตามความจริง เข้าใจว่าสิ่งใดเป็นกุศลให้ทำ สิ่งใดเป็นอกุศลไม่ทำ หากเราอยู่ใกล้บัณฑิต เราก็จะต่อความดีนั้นมาได้

– ไม่ว่าเขาจะดีหรือไม่ดีกับเราก็ตาม “ให้มองกันด้วยสายตาแห่งคนที่รักใคร่กันเป็นอยู่ ไม่มองใครโดยความเป็นศัตรูเลย”

– หากเรามองใครว่าเป็นศัตรู การผูกเวรจะเกิดขึ้นทันที เป็นข้าศึกต่อกุศลธรรม

– ที่ถูก คือ ให้เราเห็นสิ่งที่เป็นอกุศลธรรมโดยความเป็นข้าศึกศัตรู อย่าเห็นบุคคล เป็นข้าศึกศัตรู

– วิธีพิจารณาต่อเพื่อนร่วมงานที่มีอกุศลธรรม คือ คนเราไม่ได้มีดีหรือมีชั่วโดยส่วนเดียว อย่าไปตั้งจิตเป็นศัตรูกับบุคคล แต่ให้ตั้งจิตเป็นข้าศึกศัตรูกับสิ่งที่เป็นอกุศลธรรม แล้วพิจารณาบุคคลนั้นว่า สิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นกับเขาอยู่ตอนนี้ ถ้าเขาทำต่อไปก็จะมีอกุศลธรรมความไม่ดีเกิดขึ้นกับเขามากขึ้น ถ้าเราไม่ลำบากอาจจะชี้แจงทำความเข้าใจกับเขาให้เขาคลายความอิจฉาลง (เมตตากรุณา) แต่ถ้าเราทำแล้ว เขาไม่พอใจมากขึ้น ให้เราพิจารณาต่อไปว่า ความขัดเคืองใจที่เกิดขึ้นนั้นมันเล็กน้อย ถ้าเขารู้ความจริง เข้าใจธรรมะในส่วนนี้ เขาจะออกจากอกุศลธรรมเหล่านั้นได้ ประโยชน์ของการดำรงอยู่ในกุศลธรรมความดีมันสำคัญกว่า เป็นเรื่องใหญ่กว่า ให้ทำความเข้าใจกับเขาอย่างนี้ (มุทิตา) ถ้าเขายังเปลี่ยนไม่ได้อีก เราก็ต้องตั้งจิตไว้ในอุเบกขา

– เมื่อความอิจฉา อยู่ในวงจรของกาม (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) สิ่งที่เหนือกว่ากาม จิตใจต้องเป็นแบบพรหม (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) พรหมวิหาร 4 จะทำให้เราจะชนะทั้งจิตใจตนเอง และจิตใจของผู้อื่นได้

– มิตรที่ควรคบ 7 ประการ คือ ทำสิ่งที่ทำได้ยาก ให้สิ่งที่ให้ได้ยาก อดทนถ้อยคำที่อดทนได้ยาก เปิดเผยความลับแก่เพื่อน ปิดความลับของเพื่อน ไม่ทอดทิ้งในยามอันตราย เมื่อเพื่อนสิ้นโภคทรัพย์ก็ไม่ดูหมิ่น

– ให้ตั้งจิตของเราต่อเพื่อนร่วมงานแบบนี้ ก็จะทำให้จิตใจของเรามีความสบาย อยู่ได้อย่างผาสุก


Tstamp

[05:50] ไต่ตามทาง: อดทน คือ ทุกสิ่ง
[19:45] พุทธภาษิต เรื่อง “ทรงไร้เครื่องข้องในการสอนธรรมะ”
[21:30] ปรับตัวแปรแก้สมการ: ความอิจฉาในที่ทำงาน
[34:45] ความดีต่อความดี ความชั่วต่อความชั่ว
[44:30] ไม่มองใครโดยความเป็นศัตรู
[48:50] พรหมวิหาร 4