ช่วงไต่ตามทาง: คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว

– คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เจอปัญหาสูญเสียรายได้ช่วงโควิดและลูกป่วย แต่เลือกที่จะอยู่กับปัจจุบัน ไม่ส่งจิตออกนอก ไปนึกถึงอดีตหรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง แล้วค่อย ๆ ทำงานที่มีอยู่ ด้วยกำลังใจเต็มที่ ไม่ให้จิตไหลไปในทางอกุศล

– ในสถานการณ์เดิมเดียวกัน เมื่อจิตใจถูกปลอบประโลมด้วยธรรมะ จะทำให้เกิดความเข้าใจสถานการณ์ มองโลกในอีกมุมหนึ่ง ความเข้าใจสถานการณ์นี้ทำให้ความยืดถือในจิตใจน้อยลงและวางได้ จึงไม่หนัก แม้ปัญหาจะยังไม่ได้หายไป แต่ก็ไม่ทำให้จิตใจเกิดความท้อแท้ ท้อถอย เมื่อจิตใจมีความคลี่คลายลง เบาลง (หมายถึง จิตใจมีความหนักแน่นมากขึ้น ไม่สะดุ้งสะเทือนไปตามการเปลี่ยนแปลงภายนอก) จะสามารถอยู่กับสถานการณ์นั้น ๆ ได้ และมองเห็นช่องได้ว่าควรทำอย่างไรกับปัญหาที่เจอ แล้วค่อย ๆ แก้ปัญหาไป ปัญหาก็จะค่อย ๆ คลี่คลายลงได้

– คนที่ประสบทุกข์อยู่ในชีวิตประจำวัน แต่มีธรรมะอยู่ในจิตใจ อยู่กับทุกข์ได้โดยไม่ทุกข์ มีมากมายทั้งในสมัยพุทธกาล และในยุคปัจจุบัน เมื่อเข้าใจธรรมะแล้ว เราจะเห็นทุกข์ และอยู่กับทุกข์ได้โดยไม่ทุกข์ นั่นเอง

ช่วงปรับตัวแปรแก้สมการ: มองโลกแง่ดี – แง่ร้าย กับ ทางสายกลาง

– การมองโลกในแง่ดี การมองโลกในแง่ร้าย และการมองโลกตรงกลางระหว่างแง่ดีกับแง่ร้าย มีข้อดี และข้อเสียในตัวเอง

ข้อเสีย (แง่ร้าย) = กังวลใจ อิจฉาริษยา หวาดกลัว ระแวง เคลือบแคลง ไม่พอใจ เกิดโทสะ

ข้อเสีย (แง่ดี) = ประมาทเลินเล่อ ลุ่มหลง เพลิดเพลิน พอใจ มีโมหะ มีราคะ

ข้อดี (แง่ร้าย) = รอบคอบ ไม่ถูกหลอก-ถูกโกง ปลอดภัยจากสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง

ข้อดี (แง่ดี) = จิตใจเย็น มีเมตตา มีความเห็นอกเห็นใจ

ข้อดี-ข้อเสีย (ตรงกลางระหว่างแง่ดีกับแง่ร้าย) = ต้องพ่วงทั้งข้อดีและข้อเสียของการมองโลกแง่ดี-แง่ร้ายมาด้วย

– ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ได้ยกทางสุดโต่งสองข้าง คือ ทำตัวให้ลำบากชนิดต้องทรมานตนเอง สุดโต่งอีกข้างหนึ่ง คือ เสพกามอย่างมาก ชุ่มไปด้วยกาม ส่วนตรงกลางมีหลายแบบ แบบแรก คือ ทรมานตนเองบ้าง แล้วก็ไปชุ่มอยู่ด้วยกามบ้าง แบบที่สอง คือ ไม่ถึงขั้นทรมานตนเองหรือชุ่มไปด้วยกาม แต่ยังคงกินข้าว ทรมานนิดหน่อย เสพกามบ้างนิดหน่อย ซึ่งไม่ใช่ทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา)

– ทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) เป็นตรงกลางแบบที่สาม ที่ไม่ได้อยู่ระหว่างทางสุดโต่งซ้ายหรือขวา แต่มองครอบคลุมทั้งหมดออกมาจากทางสุดโต่งทั้ง 2 ด้าน โดยพิจารณาสภาวะ 7 อย่าง ของแต่ละสิ่ง

– ฐานะ 7 ประการ (สัตตัฏฐานะ) = สิ่งที่ต้องรู้ 7 อย่าง ในแต่ละแง่มุมของแต่ละสิ่ง

1. สิ่งนั้นคืออะไร

2. สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุเกิดจากอะไร

3. ความดับของสิ่งนั้นคืออะไร

4. ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับของสิ่งนั้นเป็นอย่างไร (ข้อปฏิบัติ ขั้นตอน วิธีการ)

5. คุณประโยชน์ของสิ่งนั้นคืออะไร

6. โทษของสิ่งนั้นคืออะไร

7. เครื่องสลัดออกจากสิ่งนั้นคืออะไร

– “โลกธรรม 8” เป็นของที่อยู่คู่กับโลก เป็นธรรมดาของโลก ได้แก่ สุข-ทุกข์, ได้ลาภ-เสื่อมลาภ, สรรเสริญ-นินทา, มียศ-เสื่อมยศ ดังนั้น จะหวังให้เกิดแต่สิ่งดี ๆ หรือจะคิดว่าสิ่งแย่ๆ จะอยู่ไปตลอด ไม่ได้

– เมื่อโลกเป็นอย่างนี้ บางทีก็ดี บางทีก็ไม่ดี พระพุทธเจ้าจึงเสนอทางออกไว้ คือ มรรค 8 (ศีล สมาธิ ปัญญา) ให้จิตของเราอยู่ในมรรค 8 เห็นตามความเป็นจริงในเรื่องของโลกธรรม 8 ซึ่งเป็นปัญญา เป็นส่วนหนึ่งของทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) เมื่อเจอเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ สะเทือนใจ กังวลใจ จิตเริ่มคิดไปในทางแง่ร้าย ให้หยุดด้วยสติ ซึ่งสติมีศีลเป็นพื้นฐาน เมื่อจิตเป็นสมาธิ ก็จะเกิดปัญญาเห็นได้ว่าเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เมื่อเราเข้าใจโลกธรรม 8 ก็จะไม่เป็นคนมองโลกในแง่ดี-แง่ร้าย แต่จะเป็นคนที่เข้าใจสถานการณ์ สามารถอยู่กับสุข-ทุกข์ได้ โดยไม่เผลอเพลิน ประมาทเลินเล่อ เป็นราคะ เป็นโมหะ กังวลใจ แต่มีความรอบคอบ มีความระมัดระวัง

– โดยสรุป ทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) เป็นทางที่ประกอบด้วยองค์ประกอบอันประเสริฐ 8 อย่าง (มรรค 8) ไม่ใช่ทางที่อยู่ระหว่างทางสุดโต่งซ้ายหรือขวา แต่เป็นทางที่สาม ที่ทำให้เราอยู่ในโลกนี้ได้ไม่ว่าจะเจอสุขหรือทุกข์ก็ตาม เมื่อเข้าใจสถานการณ์แล้ว เกิดสุข สุขนี้จะเป็นสุขที่อยู่เหนือกว่าสุขเวทนา เป็นสุขที่ยั่งยืน สามารถรักษาตนให้พ้นจากภัยในวัฏฏะนี้ได้


Tstamp

[08:35] ไต่ตามทาง: คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว
[16:20] เถระภาษิต เรื่อง ทรงมีพระวาจาปลอดภัย
[17:50] มองโลกแง่ดี-แง่ร้าย กับ ทางสายกลาง