ช่วงไต่ตามทาง

  • คุณแชมป์สังเกตตนเองว่า ยังมีทิฎฐิที่ว่าการปฏิบัติธรรมของตนดีกว่าคนอื่น เก่งกว่าคนอื่น คนอื่นทำผิดหมด จิตใจกระด้าง มีความเศร้าหมอง พูดจาไม่รักษาน้ำใจคนอื่น ทำให้เสียเพื่อน เกิดการเบียดเบียนคนอื่น แต่เมื่อได้ฟังธรรมะแล้ว เกิดปัญญา จิตใจมีความนุ่มนวลอ่อนลง มีความเมตตากรุณา มีปัญญาเข้าใจประวัติพุทธศาสนา ที่มาของคำสอน เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน มีความมั่นคงในธรรมะในกระบวนการของมรรค 8 คนรอบข้างได้รับกระแสแห่งปัญญาและเมตตา นี่เป็นตัวอย่างของคำสอนที่ว่า “อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา”


ช่วงปรับตัวแปรแก้สมการ : อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด

  • การปรุงแต่งมีได้ 3 ทาง ได้แก่ ทางกาย (การกระทำ) ทางวาจา (คำพูด) และทางใจ (ความคิด)
  • เมื่อมีการตั้งเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องมีการ “พัฒนาทักษะ” เกิดขึ้นเพื่อทำสิ่งนั้นให้เกิด “ความสำเร็จ” ซึ่งจุดที่การพัฒนาทักษะเกิดขึ้นจะเป็นจุดที่ “อุปสรรค” เกิดขึ้นเช่นกัน เปรียบกับเครื่องบิน หากไม่มีลมต้านก็จะไม่มีแรงยกให้บินได้, มรรค หากไม่มีสิ่งมาทดสอบให้หลุดจากมรรคก็จะไม่รู้ว่ากำลังเดินตามทางมรรคอยู่หรือไม่, จะรู้สุขได้ ต้องมีทุกข์เสียก่อน เป็นต้น
  • ความคาดหวังว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะสำเร็จด้วยความราบรื่น ปราศจากอุปสรรค เป็นการเข้าใจผิด แต่ควรปรารถนาให้ทักษะ, ความรู้, ความเข้าใจในเรื่องนั้นเกิดขึ้นกับเราอย่างง่ายดาย เพื่อใช้ทักษะนั้นก้าวผ่านอุปสรรคไปได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย 
  • วิธีพัฒนาทักษะ คือ นำวิธีการของคนที่เขาเคยทำสำเร็จแล้ว มาใช้เป็นแผนพัฒนาทักษะของตัวเรา อย่างนี้เรียกว่า “การกระทำโดยแยบคาย” เช่น คนที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ, คนที่เคยสอบผ่านแล้ว, คนที่เคยลดน้ำหนักได้แล้ว
  • “ความคิดของเรา” บางทีก็เป็นตัวที่ขัดขวางสิ่งที่เราต้องการทำให้สำเร็จ เช่น คิดว่าทำไม่ได้ ไม่มั่นใจ แต่ไม่ว่าจะมีความคิดว่าทำได้ (มั่นใจ) หรือทำไม่ได้ (ไม่มั่นใจ) ก็ตาม ความคิดเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย ที่สำคัญคือ จะลงมือทำอย่างไรโดยแยบคายต่างหาก “โดยแยบคายนี้” เป็นความคิดอย่างหนึ่งที่เราเรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” = ทำในใจโดยแยบคาย
  • ถ้าความคิดว่าทำไม่ได้เกิดขึ้นมาแต่แรก ทำให้ไม่เกิดการลงมือทำโดยแยบคาย ก็เป็นลักษณะที่ความคิดของตัวเราเองมาขัดขวางการกระทำของตัวเราเอง ไม่ว่าทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ ส่วนความคิดว่าทำได้ แต่ไม่ได้ลงมือทำโดยแยบคาย แม้จะได้ผลอยู่บ้าง แต่ก็จะได้ไม่เต็มที่ตามที่ต้องการ  


อิทธิบาท 4 กับการระวังความคิด

  • “ระวังความคิด” ต้องระวังทั้งสองด้าน คือ ด้านที่คิดว่าจะสำเร็จ (คิดว่าตนเก่ง ไม่ฟังใคร) และด้านที่คิดว่าจะไม่สำเร็จ โดยให้เดินทางสายกลาง เจาะจงลงไปในเรื่อง “อิทธิบาท 4” เพื่อพัฒนาวิธีการโดยแยบคายให้เกิดขึ้น เพื่อให้ถึงความสำเร็จของเป้าเหมายที่ตั้งไว้ กล่าวคือ

1) ฉันทะ = ความคิดที่มั่นใจว่าเราต้องทำได้

2) วิริยะ = ใช้ความเพียร กำจัดสิ่งที่เป็นอกุศล ที่ไม่ได้เกิดประโยชน์ในเรื่องนี้ออกไป และพัฒนาสิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้เกิดขึ้นมา

3) จิตตะ = การใส่ใจเป้าหมายอยู่เรื่อย ๆ เป็นการเหนี่ยวนำทักษะที่นำไปสู่ความสำเร็จให้เกิดขึ้นมา

4) วิมังสา = ถ้าทักษะ, โดยแยบคายยังไม่เต็มที่ก็ต้องพัฒนาปรับปรุงทักษะ 

  • เมื่อนำอิทธิบาท 4 มาจับในการงานที่จะต้องทำให้สำเร็จ มันจึงเป็นตัวที่จะระมัดระวังความคิดของเราได้

โดยสรุป วิธีระวังความคิด คือ ให้มีธรรมเครื่องปรุงแต่ง (เป้าหมายที่ให้ชีวิตของเราตั้งอยู่ได้) ให้มีอิทธิบาท 4 เพื่อพัฒนาวิธีการให้เกิดความแยบคาย เพื่อให้ถึงความสำเร็จของเป้าหมายที่ตั้งไว้ พัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าในชีวิตของเรา 


Tstamp

[06:33] ไต่ตามทาง: เห็นตนดีกว่าคนอื่น
[16:02] พุทธภาษิต เรื่อง “ทรงค้นพบทางเก่า”
[17:50] ปรับตัวแปรแก้สมการ: ระวังความคิด
[34:50] วิธีพัฒนาทักษะ
[43:40] อิทธิบาท 4 กับการระวังความคิด