Q : การระลึกชาติได้ มีจริงไหม?
A : การระลึกถึงไม่ว่าจะระลึกถึงอดีตหรืออนาคตก็ระลึกถึงอยู่ในปัจจุบัน ถ้าเรามีอดีตนั่นก็หมายความว่าเรามีปัจจุบันและอนาคต ในตำราไว้ว่าการระลึกชาติก่อนได้เป็นความสามารถในส่วนของปัญญาเรียกว่า “บุพเพนิวาสานุสติญาณ” คือปัญญาที่ทำให้ระลึกตามได้ว่าเมื่อก่อนเป็นอะไรอยู่ที่ไหน โดยเหตุแห่งการระลึกชาติได้นั้นคือสมาธิต้องมีสมาธิจึงจะมีปัญญา ในข้อนี้ท่านกล่าวถึง “อภิญญา5” เตือนเอาไว้ว่าหากคนไม่ศรัทธาไม่เชื่อก็จะบอกว่านั่นเป็นเพียงมายากลคือมีปัญญาแต่ไม่มีศรัทธา หากคนที่ศรัทธาอย่างเดียวก็จะถูกหลอกได้ง่ายคือมีศรัทธาแต่ไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้นศรัทธาและปัญญาจึงต้องไปด้วยกันสองอย่างต้องพอ ๆ กันเราจึงจะเข้าใจรู้เห็นสิ่งของที่พิเศษนี้ได้

Q : ทำบุญให้ทานเพราะโลภได้บุญหรือไม่?

A : การให้ทานนั้นได้บุญ แต่หากให้ทานแล้วมีความโลภ บุญที่ได้นั้นจะเศร้าหมอง การเดินตามมรรค 8 จะทำให้ความเศร้าหมองลดลง เป็นกระบวนการที่เมื่อเราทำแล้วความอยากก็จะลดลงไปด้วย ดั่งที่พระอานนท์ท่านกล่าวไว้ว่า “เจริญฉันทะเพื่อลดฉันทะ” 

Q : สมาธิที่มากเกินไปทำให้เกียจคร้าน ไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติขั้นสูงขึ้นไป จริงหรือไม่ ?

A : สมาธิถ้ามันไม่สมดุลกับความเพียร ความเพียรน้อยไปสมาธิมากไปก็จะทำให้เกียจคร้าน แต่ถ้าความเพียรมากไปสมาธิน้อยไปก็จะทำให้ฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นมันต้องประกอบกันทั้งหมดให้เหมาะสม ในลักษณะที่ให้จิตเราละอาสวะกิเลสได้ 

Q : คนมักใช้คำว่า “อนิจจังไม่เที่ยง” เพื่อปลอบใจให้คลายทุกข์แต่พอสบายใจแล้วก็ปล่อยปะละเลยไป

A : ท่านยกเรื่อง “โลกธรรม 8” เราต้องเข้าใจทั้ง 2 ฝั่ง ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สรรเสิญ นินทา สุข ทุกข์ หากเราเข้าใจฝั่งเดียว เช่น ได้ลาภแล้วเรายินดีเพลิน พอใจ ไปในลาภยศนั้น ไม่ได้เข้าใจอีกฝั่งว่าลาภก็เสื่อมได้ มัวเพลิน พอใจไปในลาภนั้น ซึ่งความเพลิน ความพอใจนั้น คือ อุปาทาน (ความยึดถือ) เมื่อความยึดถือเกิดขึ้นตรงไหน ตรงนั้นจะเกิดเป็นตัวตนขึ้นทันที ทำให้เราเข้าไปยึดถือในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา ทุกข์จึงเกิดขึ้นทันที

Q : “พระพุทธองค์ทรงย่อโลกให้มาอยู่ในตัวเรา” หมายความว่าอย่างไร?

A : การรับรู้สิ่งต่าง ๆ จากภายนอก ล้วนรับรู้ด้วยกายของเรา เช่น เราได้ยินเสียงก็ด้วยหูของเรา เราเห็นแสงก็ด้วยตาของเรา ท่านจึงบอกว่าอยู่ในกายของเรา คำว่า “อยู่ในกาย” หมายถึง ธาตุ 4 (ดิน น้ำ ไฟ ลม) อยู่ในกายนี้ ถ้ามองจากข้างนอก ก็คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ข้างในก็จะเป็น เนื้อ เอ็น กระดูก คือ อยู่ในกายนี้ ข้างนอกอย่างไรข้างในก็อย่างนั้น มันไม่เที่ยงเหมือนกัน มันอาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่งเหมือนกัน ด้วยความเข้าใจตรงนี้ จึงไม่ยากหากเราจะเข้าใจจากข้างใน ก็จะไม่เพลินไปได้ 


Tstamp

[03:21] การระลึกชาติได้มีจริงไหม?
[23:07] ทำบุญให้ทานเพราะโลภได้บุญหรือไม่?
[26:50] สมาธิที่มากเกินไปทำให้เกียจคร้านไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติขั้นสูงขึ้นไป?
[29:43] คนมักใช้คำว่า “อนิจจังไม่เที่ยง” เพื่อปลอบใจให้คลายทุกข์แต่พอสบายใจแล้วก็ปล่อยปะละเลยไป
[45:24] “พระพุทธองค์ทรงย่อโลกให้มาอยู่ในตัวเรา” หมายความว่าอย่างไร?