Q: การยอมรับความจริงเป็นทางออกของหลายปัญหาจริงหรือไม่?

A : ทุกข์ เวทนา นั้น มันไม่ได้เป็นของจริง เปรียบดังพยับแดดที่เหมือนจะมีจริงแต่มันไม่มีจริง พอเราเข้าใจว่ามันไม่ใช่ความจริง ยอมรับด้วยปัญญา เราก็จะไม่ทุกข์อีกต่อไป ให้เรานำธรรมะมาทำ มาปฏิบัติ มาใช้ในชีวิตประจำวัน พยามเดินตามมรรค อย่าออกนอกมรรค

Q: การสะสมอาสวะใหม่ให้เข้ามาอยู่ในจิตใจจึงจะได้ผล?

A : ไม่ใช่ว่าเป็นการสะสมอาสวะใหม่ แต่ที่จริงแล้วเป็นอาสวะเก่ามันลอกออก เพราะอาสวะมันเป็นสิ่งสะสม มีกามาสวะ คือ เมื่อเราชอบพอสิ่งใด กามาสวะก็จะเพิ่มพูน ปฏิฆาสวะ คือเมื่อเราไม่พอใจขัดใจ ปฏิฆาสวะก็จะเพิ่มพูน และอวิชชาสวะ คือเมื่อไม่เข้าใจสถานการณ์ ง่วงซึม เห็นแก่ตัว อวิชชาสวะก็จะเพิ่มพูน แต่หากมีสถานการณ์ที่มากระตุ้นให้เกิดอาสวะเดิม แล้วเราไม่ทำตามเดิม เรามาเดินตามมรรค ปฏิบัติตามมรรคได้ อาสวะเดิมมันก็จะหลุดลอกออกทันที

Q: การมีปีติ สงบ มีสมาธิ หรือการไม่ยินดียินร้าย อันไหนดีกว่ากัน สุขจากภายในคือสุขจากสมาธิใช่หรือไม่? 

A : สุขในภายในคือสุขจากสมาธิ (สมาธิ 9 ขั้น) สมาธิ มี 2 ส่วน คือสมถะและวิปัสสนา แยกต่อไปอีก ได้ 3 ส่วน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แยกต่อไปอีกได้ 8 ส่วน คือมรรค 8 สมถะและวิปัสสนา เรียกอันเดียวกันว่า “สติ” เมื่อมีสติแล้ว ก็จะทำให้เกิดสมาธิเกิดปัญญาได้ คือทำแล้วจะรวมลง ลงรับกันทั้งหมด ส่วนไม่ยินดียินร้ายน่าจะเน้นมาเรื่องอุเบกขา (สมาธิขั้นที่ 3 ขึ้นไป)

Q: ฝึกที่จะไม่พูดในสิ่งที่ไม่จำเป็นเป็นอย่างไร?

A: สิ่งที่ไม่จำเป็นต้องพูด คือ คำโกหก หลอกลวง เพ้อเจ้อ นินทา ไม่มีสาระหาแก่นสารไม่ได้ ส่อเสียด ยุยงให้แตกกัน รวมถึงคำหยาบทั้งหลาย 

Q: การเกิดเป็นมนุษย์เป็นของยาก?

A: ท่านตรัสไว้ 2 นัยยะ นัยยะแรก ท่านเปรียบเทียบกับเต่าตาบอดอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยน้ำทะเล ทุก 100 ปี จะโผล่หัวขึ้นมาครั้งเดียว แล้วโผล่หัวขึ้นมาพอดีกับรูในแอกไม้ไผ่ที่มีอยู่รูเดียว นั่นเป็นความยากที่จะเป็นไปได้ นัยยะที่สอง การที่สัตว์นรกจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ยากกว่าเต่าตาบอดตัวที่ท่านได้กล่าวมาแล้ว และสิ่งที่ยากกว่านี้อีกประการหนึ่ง คือ การที่จะมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น คำสอนของท่านคงอยู่ได้นาน เพราะฉะนั้น หากตอนนี้เราได้ในสิ่งที่ได้มายาก เราเป็นมนุษย์ มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น และคำสอนของท่านยังคงอยู่ นั่นเป็นเรื่องที่ยากที่สุดแล้ว เราสามารถใช้โอกาสที่ได้มายากนี้ ทำตามคำสอนของท่านได้

Q: ทำไมคนเราเกิดมาจึงต่างกัน?

A: สิ่งที่จะจำแนกสัตว์ให้ทรามหรือประณีต คือ กรรมและวิบาก|ผลของกรรมซึ่งจุดนี้เราสามารถแก้ไขได้ หากมีสิ่งมากระตุ้นแล้วเรายังตั้งอยู่ในมรรคได้ แม้เรามามืดเราก็ไปสว่างได้หรือมาสว่างแล้วไปสว่างได้

Q: ขันติกับอุเบกขาต่างกันอย่างไร?

A: ขันติ คือ ความอดทน อดทนต่อทุกขเวทนา ต่อความลำบาก ต่อความร้อนความหนาว ต่อคำด่าคำว่า เป็นลักษณะการกระทำที่เราแสดงออก ส่วนอุเบกขาพูดถึงเวทนา ถ้าเป็น “นาม” หมายถึงเป็นเวทนาที่นิ่ง ๆ เฉย ๆ ไม่ได้จะสุขหรือทุกข์ ถ้าเป็น “กิริยา” คือ การวางเฉยในสุข ในทุกข์ และในสิ่งที่ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ 


Tstamp

[05:35] การยอมรับความจริงเป็นทางออกของหลายปัญหาจริงหรือไม่?
[13:29] การสะสมอาสวะใหม่ให้เข้ามาอยู่ในจิตใจจึงจะได้ผล
[22:27] การมีปีติสงบมีสมาธิหรือการไม่ยินดียินร้ายอันไหนดีกว่ากันสุขจากภายในคือสุขจากสมาธิใช่หรือไม่?
[29:02] ฝึกที่จะไม่พูดในสิ่งที่ไม่จำเป็นเป็นอย่างไร?
[33:48] การเกิดเป็นมนุษย์เป็นของยาก?
[42:08] ทำไมคนเราเกิดมาจึงต่างกัน?
[50:39] ขันติกับอุเบกขาต่างกันอย่างไร?