ช่วงไต่ตามทาง: Party Girl กับคนบ้างาน

– ท่านผู้ฟังอดีตเคยเป็น Party Girl ชอบสังสรรค์ ดื่มเหล้า ส่วนอีกคนเป็นคนวิศวกร เงินเดือนสูง มุ่งมั่นในการงานและความก้าวหน้าของอาชีพมาก จนกระทั่งได้มีโอกาสไปหลีกเร้น ช่วงที่นั่งสมาธิเกิดความคิดแจ่มแจ้งขึ้นมาว่าการดำเนินชีวิตที่เป็นอยู่ไม่ใช่ “ทาง” จะเอามาเป็นหลักไม่ได้ จึงเลิกสังสรรค์ และลาออกจากงาน แล้วหันมาสนใจปฏิบัติธรรม ทำสมาธิเจริญวิปัสสนากรรมฐาน หาทางพ้นทุกข์ ตั้งหลักในการดำเนินชีวิตใหม่ คือ การเป็น “โสดาบัน” ในชาตินี้

– การอยู่หลีกเร้นไม่คลุกคลีกับใคร ทำให้ได้ฝึกสติ เกิดสมาธิ ทำให้จิตสงบ เกิดปีติ สุข จึงเกิดปัญญาว่า การแสวงหาความสุขจากการปาร์ตี้ แต่งตัว กิน ดื่ม ตำแหน่งงานสูง เงินเดือนสูง อันนี้ไม่ใช่ทาง แม้ทั้งสองจะอายุไม่มาก ยังเจอทุกข์ไม่มาก แต่มีปัญญามาตามทางมรรค เริ่มเห็นได้ว่า สุขมันก็ทุกข์เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าการมีเงินทองจะเป็นทางออกให้พ้นทุกข์ได้ ด้วยความไม่ประมาทจึงหันมาศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้มากขึ้นดีกว่า

ช่วงสมการชีวิต: เตรียมจิตด้วยปัญญาก่อนเจ็บป่วยมาถึง

– สุขภาพกาย สุขภาพใจ ต้องดูแลทั้งสองส่วนคู่กัน

– “สุขภาพกาย” พระพุทธเจ้าให้แนวทางไว้ว่า

1) อาหาร – 1. กินพืชมากกว่าเนื้อสัตว์ 2. กินเป็นเวลา 3. กินพอประมาณ

2) ที่อยู่ – ถ้าอยู่ที่ไหนแล้วยังละกิเลสไม่ได้เหมือนเดิม หรือกิเลสที่เคยละได้แล้วกลับมาอีก ก็ไม่ควรอยู่ที่นั่น

3) น้ำดื่ม – ให้กรองน้ำก่อน ไม่ให้มีตัวสัตว์ ให้น้ำมีความสะอาดเพื่อจะดื่มได้

– “สุขภาพใจ” ใครก็ดูแลไม่ได้นอกจากตัวเรา

– ราคะ โทสะ โมหะ เป็นโรคของจิต ถ้าจิตป่วย กายก็จะป่วยตาม จึงต้องไม่ทำให้จิตใจป่วย คือ อย่าให้มีราคะ โทสะ โมหะ ชนิดที่ควบคุมไม่ให้ผิดศีลไม่ได้

– นอกจากมีศีลแล้ว “สมาธิ” จะรักษาความสงบ รักษาการไม่มีราคะโทสะโมหะให้มันดีอยู่ได้ เช่น ไม่โกรธถึงขนาดด่าคน ซึ่งจะมีสมาธิได้ต้องมี “สติ” ตั้งเอาไว้ “สติ” ช่วยเสริมสร้างพลังจิต ให้จิตของเราตั้งอยู่ในศีลได้ ให้จิตของเราเวลามีอะไรมากระทบแล้วไม่ขึ้นลง ไม่มีราคะโทสะโมหะออกมาจนทำให้ผิดศีล สติเป็นตัวที่จะรักษาสุขภาพจิตใจของเรา วิธีฝึกสติ คือ “สติปัฏฐาน 4” เช่น อาณาปนสติ ดูลมหายใจ การมีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมในทุกอิริยาบถ เป็นต้น

– นอกจากสติและศีลแล้ว ตอนที่เรายังไม่ป่วย ต้องมี “ปัญญา” เข้าใจธรรมชาติของความป่วย เปรียบเหมือนทหารที่ต้องเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าก่อนมีการประกาศสงครามจึงจะสามารถรักษาบ้านเมืองเอาไว้ได้ เราจึงต้องเตรียมปัญญาไว้ก่อน เพราะวันที่เราเจ็บไข้ได้ป่วยจะมาถึงแน่นอน

– ให้เข้าใจธรรมชาติของความเจ็บป่วยด้วย “ปัญญา” ว่า

1) ความเจ็บป่วยเป็นภัยที่แม่ลูกช่วยกันไม่ได้

2) เราไม่มีความเป็นใหญ่เฉพาะตนในสิ่งนั้น เช่น สั่งให้แบ่งเวทนาจากความเจ็บป่วยให้ผู้อื่นไม่ได้ สั่งให้หมอรักษาตนให้หายไม่ได้

3) เวทนาจากความเจ็บป่วยนั้นเป็นไปตามฐานะ คือ เป็นไปตามเหตุปัจจัย บางทีอาจหายหรือระงับได้ด้วยปีติอันเกิดจากการฟังธรรมะ เช่น พระคิลิมานนท์ พระวักกลิ พระอัสสชิ พระสารีบุตร เป็นต้น

4) เป็นโลกธรรม 8 เป็นสุขทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ คือ สุขทุกข์มีในเจ็บ/ไม่เจ็บ ในสุขเวทนาบางทีก็มีทุกข์มีสุขได้ ในทุกขเวทนาบางทีก็มีทุกข์มีสุขได้ คือ กุศลธรรม/อกุศลธรรม มีได้ทั้งในสุขหรือทุกข์

5) ต้องมีจิตใจที่อยู่ได้ด้วยการมีเป้าหมาย เช่น อิคิไก (ญี่ปุ่น) ความหมายของการมีชีวิตอยู่ ทำตนให้เป็นประโยชน์ ในทางพระพุทธศาสนามีอิทธิบาท 4 ทำให้อายุยืนได้ถึง 1 กัลป์

6) เวลาไปเยี่ยมผู้ป่วย ไม่ควรถามว่าว่าดีขึ้นไหม สบายดีขึ้นไหม เพราะเวทนาเป็นไปตามฐานะอยู่แล้ว สิ่งที่ควรถามคือ อดทนได้อยู่ไหม ไปให้กำลังใจ ด้วย 5 ข้อข้างต้น ไปพูดคุยเพื่อให้ “ผู้ป่วยเกิดความอาจหาญ ร่าเริงในธรรม”

– โดยสรุป : สุขภาพจิตที่ดีเริ่มจาก “สติ” รักษา “ศีล” ทำให้เกิด “ปัญญา” เมื่อมีสติ ศีล ปัญญาเป็นเครื่องมือแล้ว ก็จะรักษาสุขภาพจิตให้ดีได้


Tstamp

[07:25] ไต่ตามทาง: Party Girl กับคนบ้างาน
[13:50] ความหมายของโสดาบัน
[19:55] พุทธภาษิต เรื่อง ทรงเสมอกับพระปัจเจกพุทธเจ้า
[21:35] เตรียมจิตด้วยปัญญาก่อนเจ็บป่วย
[42:40] วิธีฝึกสติ