Q1: อานิสงส์ของการสักการะพระบรมสารีริกธาตุ

A: พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สถานที่ที่ควรเห็นเพื่อให้เกิดความสังเวช คือ สังเวชนียสถาน 4 ได้แก่ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมจักร และปรินิพพาน ซึ่งมีการสร้างเจดีย์ที่ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้

– การบูชาพระพุทธเจ้า ไม่ได้ทำเพื่อการอ้อนวอนขอร้องให้ได้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ทำเพื่อให้เกิดบุญกุศลที่เป็นไปเพื่อให้เกิดปัญญา ซึ่งหนึ่งในปัญญาที่ต้องมี คือ การสลดสังเวชใจ คำว่า “สังเวช” ไม่ใช่เรื่องไม่ดี สังเวชเกิดแล้วดีเพราะทำให้เกิดความตื่นตระหนักขึ้น ต่างกับเสียใจที่ยังมีราคะ โทสะ โมหะ ร่ำไห้คร่ำครวญ ส่วนสังเวช (sense of urgency) จะมีความรีบเร่งที่จะดับไฟที่ไหม้ตนอยู่โดยไม่พึ่งพาใครก่อน

– บุญจากการสักการะพระบรมสารีริกธาตุ มี 2 อย่าง (เป็นบุญให้ไปเกิดในสวรรค์ได้)

1. บุญที่เกิดจากอามิสบูชา เช่น การยกมือไหว้ ถวายของ เวียนประทักษิณ เดินจงกรม

2. บุญที่เกิดจากจิตใจที่มีศรัทธา มีปัญญา เกิดความสลดสังเวชใจว่า แม้พระพุทธเจ้ายิ่งใหญ่ปานนี้ก็ยังต้องปรินิพพาน สรีระเหลือเพียงเท่านี้ เกิดความสลดสังเวชใจ ให้เรายิ่งต้องรีบปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์ให้เห็นธรรมที่ท่านเห็นแล้ว ให้ตั้งจิตอธิษฐานว่า “ธรรมอันใดที่พระพุทธเจ้าเห็นแล้วขอให้เราเป็นผู้ที่มีส่วนแห่งธรรมนั้น” เพื่อจะสร้างเหตุตามท่านไป เพื่อให้มีปัญญาอันเดียวกัน

– ผู้ที่ไม่ได้เดินทางไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุ สามารถทำอามิสบูชาจากที่ไหน เวลาใดก็ได้ เพียงแค่ตั้งจิตระลึกถึงพระพุทธเจ้า (พุทธานุสติ) จิตก็ไปถึงเสมอเพราะจิตไม่ถูกจำกัดด้วยระยะทางหรือเวลา

– พระอาจารย์ได้ไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุเช่นกัน ได้รับ “พลังใจ” “เกิดปัญญา” ว่า แม้พระพุทธเจ้าก็ยังปรินิพพาน เกิดความสลดใจ ทำให้ “ตั้งหลักขึ้นได้ใหม่” “พลังจิตเพิ่มขึ้นมา” เห็นหลักว่า แม้ตัวพระพุทธเจ้าจะไม่อยู่แล้ว แต่เส้นทาง การปฏิบัติตามมรรค 8 หนทางให้พ้นทุกข์ยังมีอยู่ ให้เราเพียรปฏิบัติต่อไป ก็จะตามท่านไปได้

Q2: เมื่อเห็นสัตว์เบียดเบียนชีวิตกัน

A: แนวคิดทางพระพุทธศาสนา คือ “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” จึงให้ตั้งจิตของเราไว้ด้วยกับ “เมตตา” และ “อุเบกขา”

– เมตตาต้องมาพร้อมอุเบกขา คือ เมตตาทางใจต้องให้ได้อย่างไม่มีประมาณ แต่ให้ไปหยุดอยู่ที่อุเบกขา

– อุเบกขา คือ ความวางเฉยในผัสสะที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ โดยดูบริบทและความเหมาะสมของสถานการณ์ด้วย อุเบกขาไม่ใช่การปล่อยปละละเลย ไม่สนใจ ไม่แยแส อุเบกขาจะเป็นตัวหยุดความเสียใจ กังวลใจ ฟุ้งซ่าน กำจัดโมหะ

Q3: หนังสือ อดทน คือ ทุกสิ่ง

A: ความอดทนมี 4 ระดับ

1) อดทนได้แบบสบาย (ตีติกขาขันติ)

2) อดทนได้แบบอดกลั้น (อธิวาสนขันติ) – แม้เกิดความไม่พอใจแต่อดกลั้นไม่ให้อกุศลธรรมในใจ (โทสะ การผูกเวร) เกิดขึ้นได้

3) เก็บกด – เกิดอกุศลธรรมในใจ (มิจฉาทิฎฐิ พยาบาท ผูกเวร) แล้ว แต่ไม่ได้แสดงออกมาทางกาย ทางวาจา

4) อดทนไม่ได้ (ขันแตก)

– “ความอดทน” อยู่ในทุกสิ่งในชีวิตของเรา สามารถเปลี่ยนจิตไม่ให้เกิดอกุศลธรรม กำจัดมิจฉาสังกัปปะ (คิดชั่ว) ทำให้เกิดปัญญาในการปล่อยวางอกุศลธรรมได้

– วิธีแก้ความอดทนไม่ได้ (เก็บกด, ขันแตก)

1. ใช้ปัญญาพิจารณาอนัตตา (ความไม่เที่ยง) เช่น เห็นเป็นเพียงลมที่ทำให้เกิดเสียงมากระทบหูให้ได้ยิน ไม่ได้มีตัวตน

2. ใช้ความเมตตา อุเบกขา คือ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ใครทำอย่างไรก็จะได้รับผลแห่งกรรมนั้น ก็จะปล่อยวางได้ โดยเริ่มจากทำจิตให้เป็นสมาธิ จากนั้นตั้งจิตไว้ด้วยกับเมตตา แล้วเอาเหตุการณ์ที่ทำให้เก็บกด, ขันแตก มาแผ่เมตตาให้ตัวเองผ่านไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย เมื่อจิตเราชุ่มอยู่ด้วยกับเมตตาแล้ว ความเก็บกดก็จะเกาะอยู่ที่จิตไม่ได้ ก็จะต้องถูกปลดปล่อยไป

Q4: ทำบุญกับพระในบ้าน (พ่อแม่) กับทำบุญที่วัด

A: บุญในทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ การให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ไม่จำกัดว่าต้องไปทำบุญที่วัด หรือกับพระสงฆ์เท่านั้น ปริมาณบุญจากการให้ทานจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ด้วยความมีศีลของผู้ให้และผู้รับ และของที่ให้ทานบริสุทธิ์ ไม่ได้ขโมยมา มีความประณีต


Tstamp

[00:52] สักการะพระบรมสารีริกธาตุ
[16:45] เห็นสัตว์เบียนเบียดชีวิตกัน
[29:00] อดทน คือ ทุกสิ่ง
[50:22] ทำบุญกับพระในบ้าน ทำบุญที่วัด