สูตร1 #คาวีอุปมาสูตร อุปมาด้วยแม่โค ทรงแสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย ทรงเปรียบเทียบภิกษุผู้โง่เขลากับแม่โคที่โง่เขลาและภิกษุผู้ฉลาดกับแม่โคที่ฉลาดว่า ภิกษุผู้โง่เขลาที่ไม่สามารถบรรลุปฐมฌานได้ ก็จะบรรลุทุติยฌานไม่ได้ เหมือนแม่โคโง่เขลาที่ไม่สามารถหากินบนภูเขาขรุขระในถิ่นตนได้ ก็จะไปหากินในที่ต่างถิ่นไม่ได้ ส่วนภิกษุผู้ฉลาดที่สามารถบรรลุปฐมฌานได้ ก็สามารถบรรลุณานขั้นสูงขึ้นไปจนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธได้ เหมือนแม่โคฉลาดที่สามารถหากินบนภูเขาขรุขระในถิ่นตนได้ ก็สามารถไปหากินในที่ต่างถิ่นได้ องค์ธรรมในสูตรนี้ คือ อนุปุพพวิหาร 9 ประการ นอกจากนี้ยังทรงแสดงธรรมอื่น คือ อิทธิวิธญาณ ทิพพโสตะ เจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ไว้โดยละเอียด

สูตร2 #ตปุสสสูตร ว่าด้วยตปุสสคหบดี ท่านพระอานนท์พาตปุสสคหบดีไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลเรื่องที่คหบดีนั้นเล่าให้ฟังว่า พวกเขาเป็นคฤหัสถ์มีความยินดีรื่นรมย์บันเทิงในกาม เนกขัมมะ (การออกบวช) ปรากฎแก่พวกเขาเหมือนเหวใหญ่ จิตของภิกษุหนุ่มๆ ยินดีในเนกขัมมะ เมื่อพิจารณาเห็นว่าเนกขัมมะเป็นธรรมสงบ ภิกษุมีธรรมที่ต่างกับคฤหัสถ์ คือ เนกขัมมะ พระองค์ตรัสว่าข้อนั้นเป็นความจริง แม้พระองค์เองก่อนตรัสรู้ก็มีความดำริว่า เนกขัมมะเป็นความดี ความสุขเป็นความดี แต่จิตของพระองค์ก็ไม่น้อมไปในเนกขัมมะ เมื่อพิจารณาเห็นว่าเนกขัมมะเป็นธรรมสงบ จึงดำริว่า อะไรเป็นเหตุให้เป็นเช่นนั้น รู้ว่า เพราะยังไม่เห็นโทษในกาม และยังไม่ได้รับอานิสงส์ในเนกขัมมะ ถ้าได้เห็นโทษในกาม และได้รับอานิสงส์ในเนกขัมมะ จิตก็จะน้อมไปในเนกขัมมะ แล้วทรงแสดงว่า พระองค์ทรงบรรลุอนุปุพพวิหาร 4 ทรงสรุปว่า เมื่อใด พระองค์เข้าหรือออกจากอนุปุพพวิหารสมาบัติ 4 ประการนี้ได้ตามปรารถนา ทั้งโดยอนุโลม และปฏิโลม เมื่อนั้นพระองค์จึงกล้ายืนยันว่าได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลกทั้งปวง

อ่าน “คาวีอุปมาสูตร” พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

อ่าน “ตปุสสสูตร” พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต


Timeline
[02:56] คาวีอุปมาสูตร ว่าด้วยการอุปมาด้วยแม่โค
[11:46] ตปุสสสูตร ว่าด้วยตปุสสคหบดี