กระบวนการเกิดของพฤติกรรม เกิดจากจิตใจ โดยจิตของคนเราจะเป็นไปตามอารมณ์ เปรียบเหมือนกับลิง โหนตัวไปมา จับกิ่งไม้นี้ โหนตัวไปจับกิ่งไม้อื่น แล้วปล่อยกิ่งไม้เดิม ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จิตของของเราก็เหมือนกันเคลื่อนไปตามอารมณ์นี้ นั้น โน้น ซึ่งอารมณ์ก็เกิดมาจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อจิตไปเสวยอารมณ์ก็จะเกิดสิ่งที่อาสวะผลิตขึ้นมา คือ กิเลส ราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นเมื่อไม่มีสติ หลงเพลินไป อาสวะเป็นของไหลออกเนื่องจากพฤติกรรมของจิตที่ไปเสวยอารมณ์นั้น ๆ เมื่อจิตไปเสวยอารมณ์ อาสวะที่ผลิตออกมาก็จะถูกสะสมไว้ที่จิต (reinforce) คือ การตอกย้ำลงไป พฤติกรรมนั้นก็จะทำง่ายขึ้นในครั้งต่อไป เมื่อจิตเราไปเสวยอารมณ์อย่างนั้นอีก อาสวะเมื่อเราไม่มีสติ หลงเพลินไป ก็จะถูกผลิตขึ้นมาอีก ก็จะเป็นการตอกย้ำอีกว่า การกระทำพฤติกรรมแบบนี้มันก็จะง่ายขึ้น เช่น คนที่ชอบกินผัดกะเพราแล้วมันอร่อย ก็กินผัดกะเพราในครั้งต่อไปก็ยิ่งจะง่าย หรือ คนที่กลัวงู ก็เพราะมีอาสวะสะสมในจิตให้เกิดอารมณ์กลัวจากการได้เห็นงูมาก่อน เมื่อมีผัสสะมากระทบ พฤติกรรมจะออกมาทันทีว่ากลัวงู พอพัฒนามากขึ้นก็จะกลายเป็นโรค Phobia

สำหรับคนที่เป็นโรค Phobia หรือโรคซึมเศร้า ทำให้มีปัญหาในการดำเนินการชีวิต พระพุทธเจ้าสอนว่า “หากเรากลัวสิ่งใด เราจะละความกลัวได้ ก็ต้องละในสิ่งนั้น เราทุกข์ตรงไหน เราจะละทุกข์ได้ เราต้องละทุกข์ตรงนั้น มันติดตรงไหน จะแก้ จะตัดได้ ก็ต้องแก้ที่ตรงนั้น เป็นแผลตรงไหน จะให้หายได้ ต้องใส่ยาลงไปที่ตรงนั้น” เมื่อเรากลัวสิ่งไหน ให้เข้าไปหาสิ่งนั้นด้วยสติปัญญา เมื่อมีความกลัวเกิดขึ้น ให้เข้าใจด้วยปัญญาว่าจริง ๆ แล้ว มันไม่ได้น่ากลัว มีปัญญาเห็นตามความเป็นจริง (โยนิโสมนสิการ) อาสวะความกลัว ก็จะถูกตัดออกทันที แต่ถ้ายังตั้งสติไม่ได้ ก็ให้คิดเรื่องอื่น ไปตั้งสติในเรื่องอื่น เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ การมีจุดที่ตั้งสติขึ้น เป็นการเพิ่มกำลังของสติและปัญญา การฟันลงไปก็จะถูกจุดมากขึ้น อาสวะก็จะถูกทำลายได้ตรงจุดยิ่งขึ้น เปรียบเทียบความคมของมีดได้กับปัญญา ขนาดของมีดเปรียบได้กับสมาธิว่ามีกำลังมากแค่ไหน การเล็งลงไปให้ถูกจุด เปรียบได้กับสติ

ความกลัวมี 2 ประเภท 1) ความกลัวที่เป็นกุศล เช่น กลัวต่อบาป (หิริโอตัปปะ) 2) ความกลัวที่เป็นอกุศล เช่น กลัวอื่น ๆ กลัวสูญเสีย กลัวตาย กลัวเจ็บป่วย เป็นต้น หากกลัวความตาย ท่านให้พิจารณาความตายด้วยการเจริญมรณสติ ตั้งสติระลึกถึงความตาย แล้วระลึกถึงความดีของตน ดึงจิตมาจดจ่อไว้ที่ความดีของตน (ฌาน) เป็นสัมมาสมาธิ พอมีสมาธิเห็นด้วยปัญญาว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดาเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกสิ่ง พิจารณาแบบนี้ซ้ำวนไปวนมาหลาย ๆ รอบ เพราะอาสวะที่สะสมไว้มานานมันเหนียว

โดยสรุป “ให้เราสังเกตพฤติกรรมของเราว่าเป็นมาอย่างไร มันแก้ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเรื่องหนัก ๆ ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ก็แก้ไขได้ ราคะ โทสะ โมหะ มันอบรมจิตใจเรามามากแล้ว เราจึงตกเป็นทาสของมันจนทุกวันนี้ ทำให้มีพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมา ในทางจิตใจเราจึงต้องแก้ที่เหตุปัจจัย โดยใช้สติปัญญา เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาตรงนี้”


Timeline

[03:52] กระบวนการเกิดของพฤติกรรม
[16:01] วิธีแก้สำหรับคนเป็นโรค Phobia
[30:22] ประเภทของความกลัว