Q1: อโหสิกรรมแล้ว คนนั้นจะไม่ต้องรับผลกรรม ใช่หรือไม่

A: การกระทำทุกอย่างทั้งทางกาย วาจา ใจ ต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้น ผล คือ วิบาก ความเชื่อที่ว่า “ถ้าเราทำกรรมอย่างไร ก็จะได้รับกรรมอย่างนั้น” เป็นความเชื่อที่ผิด เป็นมิจฉาทิฎฐิ แต่ “ทำกรรมอย่างไร ก็จะได้รับผลของกรรมอย่างนั้น” เป็นความเชื่อที่ถูก “ผลของกรรม” กับ “กรรม” เป็นคนละอย่างกัน “อโหสิ” คือ การกระทำของเรา แม้เราให้อภัยเขา เขาก็ยังต้องได้รับผลของกรรมของเขาอยู่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะให้อภัยเขาหรือไม่ เพราะแต่ละบุคคลมีกรรมเป็นของตน แต่การให้อภัยจะเป็นประโยชน์กับตัวเรา หากเราไม่พอใจเขา ผูกเวร ก็จะเป็นบาป เป็นอกุศลกรรมของเรา การให้อภัยจะเป็นตัวตัดไม่ให้ความชั่ว หรืออกุศลกรรมเกิดขึ้นกับเรา ตัวเราก็จะได้รับผลของกรรมดีจากการให้อภัยนั้น ตัวอย่าง การผูกเวรของพระเทวทัตที่มีต่อพระพุทธเจ้า

– วิธีการที่จะขอตัดเวรตัดกรรม คือ การปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งเป็นปฏิปทาให้ถึงความสิ้นกรรม ให้เราทำความดี รักษาศีล เจริญสมาธิ เจริญปัญญา

– พระอาจารย์แนะนำให้เรา “ทำความดีต่อไป ความชั่วไม่ทำเลยดีกว่า ให้อภัยทุกคน ไม่คิดร้ายกับใคร เขาจะดีหรือร้ายอย่างไร เราก็จะทำความดีอย่างเดียว เพื่อให้ถึงนิพพาน จะเป็นที่พ้นทุกข์ให้ถึงความสิ้นกรรมได้”

Q2: ทำบุญให้กับบุคคลที่เสียชีวิตโดยไม่เจตนาของเราและเป็นคนต่างศาสนา จะได้รับบุญที่ทำให้หรือไม่

A: บุญจากการใส่บาตร ทำสังฆทาน เกิดขึ้นที่เราแล้ว เราส่งกระแสจิตไปถึงบุคคลนั้น ให้เขาอนุโมทนา ส่วนเขาจะมาอนุโมทนาหรือไม่ เป็นเรื่องจิตของเขา ในที่นี้ให้เราตั้งหน้าตั้งตาทำความดีต่อไปไม่ว่ารูปแบบใด เพื่อกำจัดความไม่สบายใจ ความกังวลใจของเรา โดยทำบุญให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา การภาวนาจะทำให้จิตใจสงบได้

Q3: พี่สาวเป็นอัลไซเมอร์ อยู่ตัวคนเดียว ลูกไม่ดูแล แต่ต้องรอการตัดสินใจของลูก พี่น้องควรทำอย่างไร

A: สามี ภรรยา ลูก เปรียบเหมือนเสื้อผ้า มีใหม่ได้ แต่พี่น้องเปรียบเสมือนแขนขา มีใหม่ไม่ได้ พี่น้องจึงตัดกันไม่ขาด แนะนำให้พี่น้องช่วยกันดูแลพี่สาว

Q4: ลูกพูดกับพ่อว่า แก่แล้วไม่ทำอะไร ทวงบุญคุณกับลูก พ่อควรทำอย่างไร

A: พ่อควรทำใจ คือ ทำใจของเราให้เป็นกุศล ผาสุกอยู่ได้ แม้ทายาทไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง อย่าคิดในทางที่เป็นอกุศล เศร้าหมอง อย่าไปสาปแช่งลูก เอาเมตตา อุเบกขา เข้าไปใส่ พยายามพึ่งตัวเองให้ได้มากที่สุด

Q5: ตอบแทนคุณพ่อแม่ที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันได้อย่างไร

A: “ทำเอง” หรือ “จัดให้กระทำ” ก็ได้ อาจจะเอาเงินเดือนให้ ทำประกันชีวิตให้พ่อแม่

Q6: ทะเลาะกับพี่น้อง และไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองผิด เป็นบาปหรือไม่

A: ผิด หรือถูก ไม่เหมือนกับสัมมา หรือมิจฉา แม้ถูกแต่ก็อาจเป็นมิจฉาได้ การผูกเวรอยู่ เป็นบาป ให้เจริญเมตตาโดยไม่มีประมาณ ไม่มีเวรต่อกัน


Timeline

[01:52] อโหสิกรรม
[24:24] ทำบุญให้คนต่างศาสนา
[31:50] ผู้ป่วยอัลไซเมอร์
[40:15] ทำใจอย่างไรเมื่อลูกพูดไม่ดี
[48:45] ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน
[50:02] ทะเลาะกับพี่น้อง