สูตร1 # อุโปสถสูตร (การรักษาศีล 8) สมัยหนึ่ง นางวิสาขาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ปราสาทของนางวิสาขามิคารมาตาในบุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี ได้รับสั่งทักนางวิสาขา ซึ่งได้ทูลตอบว่าจะรักษาอุโบสถ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า อุโบสถ 3 ประเภท ได้แก่ 1) โคปาลอุโบสถ (อุโบสถเยี่ยงคนเลี้ยงโค) เป็นการรักษาศีลไม่จริง 2) นิคัณฐอุโบสถ (อุโบสถเยี่ยงนิครนถ์) เป็นการกระทำอย่างพวกนักบวชนอกศาสนาที่เรียกว่านิครนถ์ ชักชวนสาวกให้ต้อนตีสัตว์ไปในทิศทางต่าง ๆ บ้างก็ชักชวนกันให้เมตตาสัตว์บางชนิด บ้างก็ให้ทารุณกับสัตว์บางชนิด บ้างก็ชักชวนให้สลัดผ้านุ่งห่มทุกชิ้นในวันอุโบสถ และ 3) อริยอุโบสถ (อุโบสถเยี่ยงอริยะ) เป็นการสมาทานรักษาอุโบสถของผู้ปรารภความเพียรคือ ทำจิตที่เศร้าหมองนั้นให้ ผ่องแผ้ว โดยระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เมื่อระลึกอย่างนี้จิตย่อมผ่องใส เกิดปีติปราโมทย์ ละกิเลสเครื่อง เศร้าหมองของจิต
แล้วตรัสต่อไปว่า อริยอุโบสถนี้ที่บุคคลสมาทานรักษาแล้วย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแผ่ไพศาลมาก เปรียบเหมือน พระราชาเสวยราชสมบัติ และอธิปไตยในชนบทใหญ่ ๆ ทั้ง 16 แคว้น สมบูรณ์ด้วยรัตนะทั้ง 7 ประการ ถือว่า การเสวยการครองราชย์ของพระราชาพระองค์นั้นยังมีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 แห่งอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ 8 ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะราชสมบัติของมนุษย์เมื่อนำไปเปรียบกับสุขที่เป็นทิพย์ถือว่าเป็นของเล็กน้อย
สูตร2 # อิธโลกิกสูตร (ธรรมที่เป็นไปเพื่อชัยชนะในโลกนี้) สมัยหนึ่ง นางวิสาขาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ปราสาทของนางวิสาขามิคารมาตา ในบุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี ได้ตรัสกับนางวิสาขาว่า มาตุคาม(หญิงชาวบ้าน) ที่ประกอบด้วยธรรม 4 ประการ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อชัยชนะในโลกนี้ ประกอบด้วย 1. จัดการงานดี (เป็นคนขยัน ไม่เกียจคร้านในการงาน) 2. สงเคราะห์คนข้างเคียง (รู้จักการงานคนในบ้านสามี) 3. ปฏิบัติถูกใจสามี (ไม่ล่วงละเมิดสิ่งที่ไม่เป็นที่พอใจของสามี) และ 4. รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้
มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม 4 ประการ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อชัยชนะในโลกหน้านั้น ต้องเป็นผู้มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล จาคะ และปัญญา ดังนั้นธรรมทั้ง 8 ประการนี้มีอยู่แก่สตรีใดสตรีนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่า “ผู้มีศีล ตั้งอยู่ในธรรม กล่าวคำสัตย์” อุบาสิกาเช่นนั้นผู้ถึงพร้อมด้วยอาการ 16 อย่างประกอบด้วยองค์ 8 ประการ เป็นผู้มีศีล ย่อมเกิดในเทวโลกชื่อว่า “มนาปกายิกะ”
สูตร3 # อนุรุทธสูตร (พระอนุรุทธและเทวดาเหล่ามนาปกายิกา) สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี ท่านพระอนุรุทธะพักผ่อนกลางวัน หลีกเร้นอยู่ มีเทวดาเหล่ามนาปกายิกามากมาย ได้เข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะถึงที่อยู่ เหล่าเทวดาเหล่านั้นได้กล่าวว่าเป็นเทวดาชื่อ “มนาปกายิกา” ครองความเป็นใหญ่และมีอำนาจ 3 ประการ คือหวังวรรณะ (ผิวพรรณ) เสียง และความสุข เช่นใดก็จะได้เช่นนั้น เหล่าเทวดาทราบความดำริของพระอนุรุทธะ จึงแปลงร่างผิวพรรณ นุ่งผ้าและเครื่องประดับเป็นสีเขียว เหลือง ขาว ต่างขับร้อง ฟ้อนรำ ปรบมือ มีความไพเราะเปรียบเหมือนดนตรี แต่พระอนุรุทธิทอดอินทรีย์ลง (ไม่ลืมตาดู) ได้เข้าเฝ้าและเล่าเรื่องเทวดาให้ฟังพร้อมทูลถามพระผู้มีพระภาคว่ามาตุคามต้องประกอบด้วยธรรมใด เมื่อตายไปแล้วจึงจะไปเกิดร่วมกับเทวดามนาปกายิกา ซึ่งได้ทรงตรัสว่ามาตุคามประกอบด้วยธรรม 8 ประการ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย ของเทวดาเหล่ามนาปกายิ (ชั้นนิมมานนรดี)
อ่าน “อุโปสถสูตร ว่าด้วยอุโบสถ“ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
อ่าน “อิธโลกิกสูตร ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อชัยชนะในโลกนี้“ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
อ่าน “อนุรุทธสูตร ว่าด้วยพระอนุรุทธะ“ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
Timeline
[02:48] อุโปสถสูตร พระสูตรว่าด้วยอุโบสถ
[45:31] อิธโลกิกสูตร ธรรมที่เป็นไปเพื่อชัยชนะในโลกนี้
[54:15] อนุรุทธสูตร ว่าด้วยพระอนุรุทธและเทวดาเหล่ามนาปกายิกา