ช่วงไต่ตามทาง: ท่านผู้ฟังป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด และเสียชีวิตแล้ว ความป่วยมี 2 อย่าง คือ ป่วยกายกับป่วยใจ ก่อนเสียชีวิต ท่านไม่มีการร่ำไห้คร่ำครวญ นึกเสียใจ แต่มีพลังจิตพลังใจเข้มแข็งมาก ยังสอนลูกหลานว่าความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ทุกคนต้องตาย ธรรมะที่ทำให้บุคคลนี้ยังมีความผาสุกอยู่ได้แม้มีความตายมาจ่ออยู่ตรงหน้า คือ การตั้งสติไว้ มีการฟังเทศน์อยู่สม่ำเสมอ เมื่อมีทุกขเวทนาเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่ามี 2 วิธี คือ ใช้สุขาปฏิปทา คือ การหลบจากความเจ็บปวดด้วยการเข้าสมาธิ หรือใช้ทุกขาปฏิปทา คือ การพิจารณาลงไปในความเจ็บปวดทางกายนั้น จิตแยกกับกายได้ ทุกขาปฏิปทานี้ เป็นวิธีการ หรือการพิจารณาชนิดที่เป็นที่สบายต่อการบรรลุนิพพาน คือ เห็นโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ช่วงปรับตัวแปรแก้สมการ: วิธีทำจิต เมื่อต้องเผชิญกับความเจ็บป่วย

Stage 1 ยังไม่ป่วยกาย-หากกายยังไม่ป่วย ก็อย่าให้ใจป่วย ที่ตั้งแห่งความเบาใจ 4 ประการ ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และศีลของเรา ให้ยึดไว้เป็นสรณะ จิตของเราก็จะมีความเบาใจได้ อย่าเอาจิตของเราไปใส่ไว้ในจุดที่หนักใจ กังวลใจ ดูข่าวพอประมาณ ให้มีความรู้ที่จะทำให้เมื่อป่วยจริงแล้วจะมีความผาสุกอยู่ได้ และต้องฝึกสติให้มีกำลังมากขึ้น และสมาธิต้องเข้าได้ง่าย ตั้งอยู่ได้นาน ต้องฝึกให้มีความชำนาญ

Stage 2 เจ็บป่วย แต่ไม่มาก-ให้ฝึกทำตั้งแต่ตอนที่ยังมีทุกขเวทนาทางกายไม่มาก คือ ให้มีความเพียรตั้งสติเอาไว้ ใคร่ครวญแยกแยะสุขเวทนา ทุกขเวทนา กุศลธรรม อกุศลธรรม และพิจารณาฐานะความเจ็บไข้ ที่จะไม่ได้มาด้วยการอ้อนวอนขอร้อง ถ้ามีเหตุเกิดของโรค โรคก็ย่อมเกิด เป็นธรรมดาที่จะต้องเจ็บป่วยไข้ เมื่อจิตสงบแล้วจะสามารถเห็นความไม่เที่ยงในกาย แล้ววาง ละ ไม่ยึดถือ ไม่กำหนัดยินดีในกาย แล้วเอาความที่จิตเป็นอารมณ์อันเดียวนั้น ตั้งมั่นเอาไว้ เห็นกายในความของไม่เที่ยง ปล่อยเสีย วางเสีย แยกจากกัน เหมือนดึงดาบออกจากฝัก พิจารณาแยกกายกับจิตออกจากกัน

Stage 3 ป่วยหนักมากแล้ว-คนที่หนักปานนี้แล้ว ถ้าตั้งอยู่ในธรรม 5 อย่างนี้ ไม่นานก็จะสามารถบรรลุธรรมขั้นสูงได้ ถ้าจะตาย แล้วเข้าถึงความไม่ตายได้ มันคุ้มกว่านะ ร่างกายแตกสลายตายไป แต่เข้าถึงความไม่ตาย คือ ความอมตะ นิพพานได้ ย่อมดีกว่าการอยู่ในกายเน่าเฟะ ท่านเปรียบเหมือนหม้อดินเก่า รั่ว แตก แต่เห็นถาดทองคำอยู่ จะไปเอาหม้อดินมาใช้ทำไมเล่า ไปเอาถาดทองคำดีกว่า จะได้ถาดทองคำได้ด้วยการรักษาจิต คนที่ป่วยหนักแล้วต้องแยกกายแยกจิตให้ได้เร็ว ให้ได้นาน ให้คงอยู่ได้ตลอด ธรรม 5 ข้อ ที่พระพุทธเจ้าให้พิจารณาเมื่อป่วยหนัก ได้แก่

1. ให้พิจารณาถึงความไม่งามในกาย

2. การให้เห็นความปฏิกูลในอาหาร

3. การเห็นว่าโลกทั้งปวงไม่น่าเพลิดเพลิน ไม่น่ายินดี

4. พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งหลาย

5. มรณสัญญา กำหนดหมายไว้ในความตาย


Timeline

[02:45] ช่วงไต่ตามทาง: ป่วยเป็นมะเร็งปอด
[14:05] พุทธภาษิต เรื่อง ทรงเป็นผู้สอนที่เลิศที่สุด
[16:04] วิธีทำจิตเมื่อต้องเผชิญกับความเจ็บป่วย
[18:38] Stage 1 ยังไม่ป่วยกาย
[27:10] Stage 2 เจ็บป่วย แต่ไม่มาก
[45:15] Stage 3 ป่วยหนักมากแล้ว
[51:25] ธรรมะ 5 ข้อ ที่ให้พิจารณาเมื่อป่วยหนัก