Q : เหตุใดเมื่อกายดับ จิตจึงไม่ดับตามกาย?

A : จิตกับกายล้วนมีความเกิดและความตายอยู่ทุกขณะ ที่เราเห็นมันต่อเนื่องเพราะมันเป็นความต่อเนื่องของกระแสที่เกิดและดับอย่างรวดเร็ว กายเราประกอบกันขึ้นจากหลาย ๆ เซลล์รวมกันเป็นอวัยวะ มีเซลล์ที่ตายและเซลล์ใหม่เกิดขึ้น ท่านกล่าวไว้ว่า ระหว่างกายกับจิต จิตที่มันเกิดและดับ จะเห็นความแตกต่างไม่ชัดเจนเหมือนกาย เพราะกายหากเซลล์เกิดน้อยกว่าดับ จะเห็นเป็นสภาพของความแก่ ซึ่งพอเราเห็นเช่นนี้ จะทำให้เราคลายกำหนัดในกายได้บ้าง

ส่วนการทอดทิ้งร่าง การสละขันธ์ ความที่ไม่มีอินทรีย์คือชีวิต คือความตาย มันเห็นได้ชัดเจน แต่ตายแล้วก็ไม่ใช่ว่าไม่เกิด ความเกิดในที่นี้ใช้คำว่า “อุบัติ” ความดับใช้คำว่า “นิโรธ” ส่วนความเกิดที่เรียกว่า “ชาตะ” กับความตายที่เรียกว่า “มตะ” จะเป็นอีกคู่หนึ่ง จิตเราที่ว่าไม่ตาย ที่ว่าไปเกิดเรียกว่า “อุบัติ” ดับเรียกว่า “นิโรธ” เกิดดับ ๆ ถี่ ๆ จนเป็นกระแส ในขณะที่กายก็เกิดดับ ๆ ถี่ ๆ จนเป็นกระแส แต่กายจะมีจุดหนึ่งที่ดับมากกว่าเกิด คือ “มตะ” คือตาย ทอดทิ้งร่างนี้ไป และจะมีจุดที่เกิดคือ “ชาตะ” เกิดจากท้องแม่หรือผุดเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามสภาวะ (ภพ) ของสัตว์เหล่านั้น ๆ แต่ความเกิดที่เกิดขึ้นมานั้น คือ อุบัติขึ้นมา ตามสภาวะแต่ละกรรมที่สร้างมา เพราะฉะนั้น กายนี้ถ้าตายไป ก็เกิดเหมือนกัน คำว่าเกิดนี้หมายถึงมีสภาวะการเกิดเกิดขึ้น จากการที่จิตเกิดดับ ๆ มันต้องมีที่ยึด นามรูปมันต้องเกาะกัน ถ้ารูปนี้เป็นอินทรีย์คือชีวิต เกาะไม่ได้แล้ว นามก็ต้องไปหารูปอื่นเกาะขึ้น พอเกาะก็คือการก้าวลง คือการเกิด ส่วนที่ตายไปก็สละคืนไป ดับไป ทอดทิ้งร่างไป ไม่ใช่ว่าคนตายแล้วจิตไม่ตาย จิตตายแน่นอน (ดับ) ตายในที่นี้คือดับ แต่เราเห็นสภาวะการตายของจิตไม่ชัดเจนเท่ากาย

Q : คนยังไม่ตาย ทำไมจิตตาย?

A : จิตดับหรือจิตตาย หมายถึง จิตที่จะไปเกิดใหม่มันตายไป ดับไป กิเลสที่มันเกาะจิตดวงที่จะไปเกิดมันตายแล้ว แต่คนยังมีชีวิตอยู่ นั่นคือ พระอรหันต์ / อุบัติ (เกิด) กับ นิโรธ (ดับ), ชาติ (เกิด) กับ มรณะ (ตาย) เพราะฉะนั้น มรณะไม่ได้หมายความว่ามันดับ มรณะอาจจะมีความเกิดขึ้น ในที่นี้หมายถึงอุบัติขึ้น ความตายคือความตายอุบัติขึ้น ความตายเกิดขึ้น คือความเกิดอุบัติขึ้น ความเกิดเกิดขึ้น พอเกิดแล้ว ความเกิดก็ดับไป นิโรธไป พอเราแยกส่วนการเกิดดับ คือ อุบัติและนิโรธ แยกส่วน ชาติกับมรณะ ชาติคือความเกิดก็อุบัติ นิโรธได้ มรณะคือความตายก็อุบัติ นิโรธได้ พอเราเริ่มเห็นกระแส เห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราจะมีปัญญาเกิดขึ้น เราจะรู้ได้ว่ามันหลอก จะเห็นความเกิดดับเป็นจังหวะเดียว จะเข้าใจว่าที่เราเห็นเป็นกระแส มันเป็นแต่ละตัว จิตก็แต่ละดวง ๆ กายก็แต่ละส่วน ๆ ประกอบกันด้วยเงื่อนไขปัจจัยที่มันคงอยู่ มันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้น เราอย่าไปยึดถือ 

Q : จิตสุดท้ายก่อนลาจาก

A : หากมองจากมุมที่เป็นประแส ความตายเกิดขึ้นในความที่เป็นกระแสนั้น มันไม่แน่ ไม่รู้ว่าตอนไหนจะเป็นจิตสุดท้าย เราจึงควรรักษาจิตอยู่ทุกขณะ มีสติไม่ประมาท มีสัมมาทิฏฐิประคองไว้ให้ตลอด จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และถ้าเราดับจิตสุดท้ายตอนนี้ เป็นพระอรหันต์จะดีมาก ๆ 

Q : ต้องปฏิบัติธรรมมากแค่ไหน ผลของกรรมชั่วจึงจะตามไม่ทัน

A : ท่านเปรียบดังเอาเกลือ (กรรมชั่ว) 1 ก้อน มาละลายน้ำ (กรรมดี) ในแก้ว และเกลือ 1 ก้อน ละลายในแม่น้ำ ผลของความเค็ม คือ วิบาก (ผล) ก็ต้องทำกรรมดีไปจนกว่าน้ำจะไม่เค็ม คือการปฏิบัติตามแนวทางศีล สมาธิ ปัญญา นั่นคือน้ำที่เราผสมลงไป / มีความเชื่อที่ว่า “ทำกรรมอย่างไร ก็จะต้องได้รับกรรมอย่างนั้น” คำพูดนี้ผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าแบบนี้เป็นจริง “การประพฤติพรหมจรรย์จะมีไม่ได้ การทำที่สุดแห่งทุกข์จะไม่ปรากฏ”

ทิฏฐิที่ถูกคือ “ทำกรรมอย่างไรก็ต้องได้รับผล (วิบาก) ของกรรมนั้น”/ สัมมาทิฎฐิ มี 2 แบบ คือ แบบที่เป็น “โลกียะ” คือยังเกี่ยวเนื่องด้วยโลก กับแบบที่เป็น “โลกุตระ” คือเหนือโลก ซึ่งทั้ง 2 แบบ ทางไปก็จะคล้าย ๆ กัน ปฏิบัติตาม มรรค 8 เหมือนกัน แต่สัมมาทิฏฐิที่ยังเกี่ยวกับโลก จะเป็นไปในแนวยึดถือ เชื่อเรื่องบุญบาป กรรมดีกรรมชั่ว ส่วนโลกุตระ จะเป็นลักษณะที่อยู่เหนือบุญเหนือบาป จะอยู่เหนือบุญเหนือบาปได้ ต้องมาทางบุญทางความดีก่อน แล้วจึงจะค่อยเหนือบุญเหนือบาปได้


Timeline

[03:14] เหตุใดเมื่อกายดับ จิตจึงไม่ดับตามกาย?
[18:01] ถ้าคนยังไม่ตาย ทำไมจิตตาย?
[26:41] จิตสุดท้ายก่อนลาจาก
[34:34] ต้องปฏิบัติธรรมมากแค่ไหน ผลของกรรมชั่วจึงจะตามไม่ทัน?