Q : คนไข้อาการหนัก ควรจะทำจิตอย่างไรให้ระงับความทรมานได้?
A : การเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นหนึ่งในอนาคตภัย 5 ประการ ที่ท่านเคยเตือนไว้ ว่าหากเจ็บป่วยแล้วเราจะยังเป็นผู้ที่อยู่ผาสุกอยู่ได้ไหม กายกับจิต เป็นคนละอย่างกัน เราต้องแยกกายออกจากจิต ความเข้าใจที่ว่า จิตนี้ท่องเที่ยวไป เกาะกายนี้แล้วก็ไปเกาะกายนั้น ความเข้าใจนี้ เป็นความเข้าใจที่ผิด (มิจฉาทิฐิ)เพราะหากคิดอย่างนี้ ก็คือ คิดว่าจิตเป็นตัวเป็นตน ที่ถูก(สัมมาทิฐิ) คือ จิตก็มีเกิด มีดับอยู่ตลอดเวลา หากมีเชื้อแห่งการเกิดมันก็เกิด หากไม่มีเชื้อแห่งการเกิดมันก็ดับ คนที่เจ็บมากแล้วทนอยู่ได้ เพราะเขาแยกจิตกับกายได้ เราต้องฝึกไว้ตั้งแต่ตอนที่เรายังสบายดี ตอนที่ร่างกายยังแข็งแรง เพราะเมื่อวันหนึ่ง ความเจ็บมาถึงแล้ว เราจะเป็นผู้ที่ตั้งสติได้
Q : วิธีแยกจิตออกจากกาย
A : เราจะแยกจิตออกจากกายได้ เราต้องมีศรัทธา เมื่อเรามีศรัทธา มีศีลและอาศัยการฝึกฝนด้วยความเพียร ตั้งสติขึ้น เมื่อตั้งสติได้แล้วก็จะมีสมาธิ พอจิตมีสมาธิแล้วมันก็จะเห็นไปตามความเป็นจริง เมื่อเห็นไปตามความเป็นจริง ว่ากาย เป็นของไม่เที่ยง เป็นอนัตตา จิตก็จะไม่ไปยึดถือในกาย พอไม่ไปยึดถือในกาย ถึงกายจะเจ็บแต่จิตก็จะไม่ได้มีปัญหาไปด้วย
Q : เมื่อเราเจ็บป่วยหนัก เราจะตั้งสติ ทำความเพียรได้อย่างไร?
A : อย่าพึ่งตกใจ เพราะหากตกใจแล้วจะทำอะไรไม่ถูก ให้เราระลึกนึกถึงอันหยั่งลงมั่นไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า คือ 1.ระลึกถึง พุทโธ 2.ธัมโม 3. สังโฆ 4. ศีล ว่า เราเป็นผู้มีศีลไม่ด่างพร้อย ทั้ง 4 ข้อนี้ เรียกว่า “โสตาปัตติยังคะ 4” เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราตั้งสติได้ ซึ่งทั้งวันเราอาจจะมีเจ็บปวดมีทุกขเวทนา แต่จะมีบางช่วงที่เราอยู่สบายได้บ้าง ช่องตรงนี้คือ จิตเราเป็นสมาธิ ให้เราอาศัยช่วงเวลานี้พิจารณากาย เห็นไปตามจริงว่ากายนี้ไม่เที่ยง เราควรปล่อยวางเสีย ตั้งสติไว้ ไม่เพลินไปในมัน ตั้งสติประกอบด้วยสมาธิปัญญา วางได้ เราจะสามารถกำจัดตัณหา อยู่เหนือสุข เหนือทุกข์ เป็นอิสระจากทุกข์ได้
Q : การพิจารณาสุขาปฏิปทาและทุกขาปฏิปทา
A : ทุกขาปฏิปทา ให้พิจารณาด้วยจิตที่เป็นสมาธิ พิจารณาตรงที่ปวด จี้จ่อลงไป ว่าใครเป็นคนปวด ทำไมถึงปวด ปวดแล้วอย่างไร คือ พิจารณาเหตุเกิดละเอียดลงไป ๆ หาตัวมาปวด เราจะหาไม่เจอ คือ ไม่มีตัวตน เหมาะสมกับคนที่มีราคะ โทสะ โมหะ กล้า / สุขาปฏิปทา คือ ไม่เอาจิตไปไว้ตรงที่ปวด หาที่สงบจุดใดจุดหนึ่ง ทำด้วยจิตที่เป็นสมาธิ เหมาะสมกับคนที่ ราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง
Q : จิตสุดท้ายก่อนเสียชีวิต
A : เราควรจะตั้งสติไว้อยู่เสมอ ความตายของแต่ละคนไม่แน่นอน ให้เราคิดอยู่ตลอดเวลาว่าตรงนี้คือ จุดสุดท้าย ให้เป็นผู้ไม่ประมาท ให้ฝึกตั้งสติไว้ในความดีอยู่เสมอ เมื่อเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา สั่งสมบุญและสามารถทำ “โสดาปฏิผล” ให้เกิดขึ้นได้ เราจะเกิดอีกไม่เกิน 7 ชาติและจะมีนิพพานเป็นเบื้องหน้า
Q : คฤหัสถ์ที่ต้องทำหารค้าจะรักษาศีลข้อมุสาวาทฯให้บริสุทธิ์ได้อย่างไร?
A : ในการทำธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องโกหกก็ได้ การรักษาศีลเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าเราโกหกแล้วก็จะไม่มีคนเชื่อเรา ไม่มั่นใจในการทำการค้าของเรา
Q : ทำยังไงไม่ให้ถูกหลอก?
A : เมื่อเรามีราคะ โทสะ โมหะ เราก็มักจะถูกหลอก ให้เราแก้ที่ตัวเราเอง คือ ให้เป็นผู้มีสติ มีสมาธิ พิจารณาให้ดี ใช้ปัญญา อย่าไปตามอำนาจ ราคะ โทสะ โมหะ เพราะกิเลส มันมีเหตุผล มีข้ออ้างเสมอ
Timeline
[02:42] คนไข้อาการหนัก ควรจะทำจิตอย่างไรให้ระงับความทรมานได้?
[08:07] วิธีแยกจิตออกจากกาย?
[14:24] เมื่อเราเจ็บป่วยหนัก เราจะตั้งสติ ทำความเพียรได้อย่างไร?
[24:34] การพิจารณาสุขาปฏิปาและทุกขาปฏิปทา
[35:18] จิตสุดท้ายก่อนเสียชีวิต
[41:34] คฤหัสถ์ที่ต้องทำการค้า จะรักษาศีลข้อมุสาวาทฯ ให้บริสุทธิ์ได้อย่างไร?
[49:08] ทำยังไงไม่ให้ถูกหลอก?