Q: “อุเบกขา” คือ อย่างไร ต่างจาก “ความเมินเฉย” ตรงไหน?
A: “อุเบกขา” เป็นภาษาบาลี แปลว่า วางเฉย เราจะมีอุเบกขาได้นั้น จิตต้องเป็นสมาธิ จิตเป็นอารมณ์อันเดียว เพ่งเฉพาะจิตที่ตั้งมั่นไว้เป็นอย่างดี อุเบกขาจึงจะเกิดขึ้น ซึ่งในขณะที่จิตเราเป็นสมาธิ อกุศลทั้งหลายมันจะไม่โผล่ออกมา มันจะฝังอยู่ในจิต จะเป็นความสงบนิ่งเย็นอยู่ภายใน เป็นความสุข เป็นปิติ ชนิดที่เป็น นิรามิส คือ สุขที่ไม่อาศัยเครื่องล่อ ส่วน “เมินเฉย” เป็นลักษณะของ “โมหะ” เป็นอวิชชา
Q: ถ้าเมตตามากจนเกินไป จะเกิดอะไรขึ้น หรือมีผลอย่างไร?
A: อุเบกขา เฉยเมย และอทุกขมสุข เป็นคนละอย่างกัน “อทุกขมสุข” คือ ไม่ทุกข์ ไม่สุข สุขที่เป็น “อามิส” คือ สุขที่อาศัยอามิสเครื่องล่อภายนอก ส่วน สุขที่เป็น “นิรามิส” คือ สุขที่เกิดจากในภายใน ละเอียดลงไปอีกก็เป็น “โทมนัส” หรือ “โสมนัส” คือ สุข ทุกข์ทางใจ ถ้าเรากำจัดทุกข์ได้ ทุกข์ก็หมดไป ถ้าเรากำจัดสุขได้ สุขก็หมดไป ถ้าเรากำจัดอทุกขมสุขได้ จะเหลืออุเบกขา เพราะฉะนั้น อุเบกขาละเอียดกว่าอทุกขมสุข / เมตตา มี 3 ช่องทาง คือ ทางกาย วาจา ใจ และในทั้ง 3 ช่องทางนี้ มีทั้งต่อหน้าและลับหลัง เราต้องมีเมตตา มุทิตา อุเบกขา ในทั้ง 3 ช่องทาง เป็นเมตตาที่ไม่มีประมาณ ให้กับทุกคน ให้ชนิดที่ไม่กลัวหมด ไม่เว้นใคร ให้เรารู้จักแยกแยะช่องทางให้ถูก ในทางพรหมวิหารไม่ใช่มีแค่เมตตา แต่ยังมี มุทิตา กรุณา และอุเบกขาด้วย เราจึงควรมี เมตตา มุทิตา อุเบกขา ทั้ง 3 ช่องทาง เลือกใช้ให้เหมาะสมก็จะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่ในโลกได้อย่างมีความสุข
Q: ความสันโดษทำให้คนขี้เกียจ จริงหรือไม่?
A: “สันโดษ” หรือ “สันตุฏฐี” หมายถึง ความพอใจ ความพอดี สันโดษในบริขารของชีวิต คำที่มักจะมาคู่กันก็คือ “มักน้อยสันโดษ” คือ พอใจและยอมรับในสิ่งที่ตนมีอยู่เป็นอยู่ คำว่า “มักน้อย”ในทางพุทธศาสนา ท่านหมายถึง การไม่อวดตน การเป็นผู้ถ่อมตน จึงมาสอดคล้องกับความสันโดษ ที่มีอิทธิบาท 4 ตั้งเป้าหมายในชีวิตแล้ว ใส่อิทธิบาท 4 ลงไป ให้เหมาะสม เมื่อประกอบกันแล้ว จะทำอะไรก็จะสำเร็จได้ ส่วนความ “ขี้เกียจ” เป็นลักษณะของนิวรณ์ จิตใจไม่สงบ ไม่พอใจในสิ่งที่ตนมี จึงเอามาเป็นข้ออ้างที่จะขี้เกียจ เพราะฉะนั้น เราต้องสันโดษจึงจะกำจัดความขี้เกียจได้
Q: ตัณหากับฉันทะต่างกันอย่างไร?
A: “ตัณหา” คือ ความทะยานอยาก หากเราตั้งอิทธิบาท4 ไว้แล้วก้าวไปด้วยตัณหา นั่นจะเป็นกับดักของความอยาก ทำให้ก้าวผิดพลาดได้ แต่ถ้าเราต้องใส่ความพอใจเข้าไป ท่านจะ เรียกว่า “ฉันทะ” ซึ่งก็คือ ความอยากเหมือนกัน แต่เป็นฉันทะที่ต้องถูกควบคุมด้วยสมาธิ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ของอิทธิบาท 4 ประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เราต้องตั้งธรรมเครื่องปรุงแต่งเอาไว้ โดยเอาฉันทะเชื่อมกับธรรมเครื่องปรุงแต่งด้วยสมาธิ พอเราปฎิบัติตาม มรรค 8 จะทำให้ฉันทะ ระงับลง ๆ งวดลง ๆ และหายไป ฉันทะก็จะถูกกำจัดด้วยฉันทะ คือ ชำระล้างตัวเองไปในตัว
Timeline
[06:41] “อุเบกขา” คือ อย่างไร ต่างจาก “ความเมินเฉย” ตรงไหน?
[14:08] ถ้าเมตตามากจนเกินไป จะเกิดอะไรขึ้น หรือมีผลอย่างไร?
[35:07] ความสันโดษทำให้คนขี้เกียจ จริงหรือไม่?
[45:48] ตัณหากับฉันทะต่างกันอย่างไร?