Q : การพิจารณาเกสา (ผม) ทำอย่างไร?
A : เป็นพุทธพจน์ที่ท่านให้พิจารณา ให้จิตตั้งอยู่ใน ปัญจกรรมฐานหรือกรรมฐาน 5 คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยพิจารณาให้เห็นเป็นของปฏิกูล ไม่ใช่ของสวยงาม เพื่อให้เกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในร่างกายของเรา พิจารณาแล้วน้อมเข้ามาสู่ตัวเรา ว่าตัวเราก็ไม่ควรค่าที่จะยึดถือไว้
Q : การนั่งสมาธิแล้วพิจารณาซากศพ ควรวางจิตและพิจารณาอย่างไร ?
A : พิจารณาให้เห็นเป็นของปฏิกูล เพื่อให้เกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด เพื่อไม่ให้เกิดความยึดถือ เพื่อปล่อยวาง แม้แต่พระพุทธเจ้ายังปรินิพพาน น้อมเข้าสู่ตัวเราว่า ตัวเราจะต้องเป็นอย่างนี้ในสักวันหนึ่ง ไม่อาจล่วงพ้นไปได้
Q : เวลาที่พิจารณากายแล้วเกิดอาการรู้สึกว่ามีโลหิตไหลอยู่ในคอ ทำให้ไอและจาม ควรแก้ไขอย่างไร?
A : ให้ตั้งสติสัมปชัญญะไว้ให้ดี อาการเช่นนี้เป็นการปรุงแต่งของกาย (กายสังขาร) ให้เราฝึกตั้งสติสัมปชัญญะ ทำไปเรื่อย ๆ การปรุงแต่งทางกายก็จะค่อย ๆ ระงับลง ๆ
Q : มีคนกล่าวไว้ว่า “ทำสมาธิตอนนอน” ดีที่สุด ได้บุญมากที่สุด?
A : สมาธิไม่ได้เกิดขึ้นที่กาย แต่เกิดที่จิต ไม่ว่าจะอิริยาบถไหนก็ต้องทำได้หมด ไม่ใช่แค่อิริยาบถนอนเท่านั้น สิ่งที่สำคัญอยู่ที่ ทำสมาธิอย่างไร พอจิตเราเป็นสมาธิ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ตรงนั้นก็จะเป็นทิพย์ หากอยู่ในอิริยาบถนั่ง ที่นั่งตรงนั้นก็เป็นที่นั่งทิพย์
Q : อานิสงส์ของการเดิน / คำว่า “สมาธิตั้งอยู่ได้นานด้วยการเดิน เป็นอย่างไร ?
A : อานิสงส์ของการเดินจะทำให้สมาธิตั้งอยู่ได้นาน เพราะมีผัสสะมากสมาธิที่ได้จึงตั้งอยู่ได้นาน หากทำสมาธิในอิริยาบถเดินแล้ว จะทำให้อาหารย่อยง่าย เป็นผู้มีความอดทนเดินทางไกล มีอายุยืนยาว
Q : เพราะเหตุใดในข้อธุดงควัตรถึงห้ามเอนกายลงนอนในเมื่อสามารถทำสมาธิได้ในทุกอิริยาบถ ?
A : ธุดงควัตร หมายถึง ข้อปฏิบัติที่ทำได้ยาก เหมาะแก่การขูดเกลากิเลสอย่างยิ่ง การห้ามเอนกายนอน เป็นการขนาบกิเลสทางหลัง เป็นการทำความเพียรรูปแบบหนึ่ง เพื่อเอาชนะกิเลส ขึ้นอยู่กับว่า กิเลสเราไปออกทางไหน หากเราชอบง่วง ชอบนอน เราก็ต้องเอาวิธีธุดงควัตรมาใช้ ให้เราดูลักษณะจิตของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง นอน ให้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะจิตของเรา
Q : เวลานั่งสมาธิได้แล้วจะเกิดความปิติ ปิติแบบมีความสุขมาก ทำอย่างไรมันจึงจะสงบลงได้?
A : ให้เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นของไม่เที่ยง ปิติที่เป็น “อามิส” นั้นต้องอาศัยเครื่องล่อ ส่วนปิติที่ไม่ต้องอาศัยเครื่องล่อ เกิดจากในภายใน เรียกว่า ปิติที่เป็น “นิรามิส” จะเกิดขึ้นเมื่อ อกุศลในใจเราลดลง ๆ กุศลในใจเพิ่มขึ้น ๆ จะวางปิติได้ ก็ต้องเห็นว่ามันเป็นของไม่เที่ยง จะทำให้ปิติสงบระงับลงได้
Q : สมาธิเวลานอน คือ การที่เราท่องพุทโธ ๆ ไปจนหลับใช่หรือไม่?
A : การกำหนดสติ มีหลายวิธีแล้วแต่เราจะเลือกใช้หนึ่งในอนุสติ10 ได้หมด โดยมีจุดประสงค์ คือ เพื่อให้เกิดสติสัมปชัญญะแล้วน้อมไปเพื่อการนอน การนอนแบบนี้เป็นการนอนที่เรียกว่ามี สติสัมปชัญญะในการนอน
Timeline
[06:07] การพิจารณาเกสา (ผม) ทำอย่างไร?
[22:53] การนั่งสมาธิแล้วพิจารณาซากศพ ควรวางจิตและพิจารณาอย่างไร?
[26:55] เวลาที่พิจารณากายแล้วเกิดอาการรู้สึกว่ามีโลหิตไหลอยู่ในคอ ทำให้ไอและจาม ควรแก้ไขอย่างไร?
[33:41] มีคนกล่าวไว้ว่า “ทำสมาธิตอนนอน” ดีที่สุด ได้บุญมากที่สุด?
[42:49] อานิสงส์ของการเดิน / คำว่า “สมาธิตั้งอยู่ได้นานด้วยการเดินเป็นอย่างไร?
[45:31] เพราะเหตุใดในข้อธุดงควัตรถึงห้ามเอนกายลงนอนในเมื่อสามารถทำสมาธิได้ในทุกอิริยบถ?
[48:55] เวลานั่งสมาธิได้แล้วจะเกิดความปิติ มีความสุขมาก ทำอย่างไร จึงจะสงบลงได้?
[55:24] สมาธิเวลานอนคือการที่เราท่องพุทโธ ๆ ไปจนหลับใช่หรือไหม?