Q: สำนวนที่ว่า “ฉลาดในทาง และไม่ใช่ทาง” เป็นอย่างไร?

A: ท่านได้กล่าวถึงการกำเนิด 4 และคติ 5 / กำเนิด 4 แยกตามลักษณะการกำเนิด คือ 1. กำเนิดในไข่ 2. กำเนิดในของโสโครก 3. กำเนิดในครรภ์ 4. ผุดเกิดขึ้น / คติ 5 คือ ทางที่จะให้ไปถึงกำเนิดเหล่านั้น ได้แก่ 1. สัตว์นรก 2. กำเนิดเดรัชฉาน 3. เปรตวิสัย 4. มนุษย์ 5. เทวดา ท่านจะรู้ว่าปฏิบัติแบบไหน จะไปสู่คติอย่างไร ทำแบบไหนจึงจะเดินไปสู่คตินั้น นี่คือ “ฉลาดในทางและไม่ใช่ทาง” ซึ่งแต่ละทางมีเส้นทางที่ไม่เหมือนกัน เส้นทางที่จะนำไปสู่ความเป็นเศรษฐี ท่านได้กล่าวไว้ถึง 1. การลุกขึ้นมาทำงาน ขยันขันแข็ง (อุฏฐานสัมปทา) 2. รู้จักรักษา เก็บเงิน (อารักขสัมปทา) 3. มีเพื่อนดี (กัลยาณมิตตตา) 4. รู้จักทำบัญชี แบ่งเงิน (สมชีวิตา) นี่คือทางที่จะเห็นผลในชาตินี้และทางอันสั้นนี้ จะต้องประกอบกันกับอริยมรรคมีองค์ 8 ด้วย

Q: ทำอย่างไรคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนจึงจะอยู่อย่างมีความสุข?

A: คนทั่วไปมักจะรักสุขเกลียดทุกข์ เรียกรวม ๆ ว่า “กามสุข” คือ สุขที่เกิดจากความเพลิน ความพอใจ ยินดี ไปใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส (โทษมาก ประโยชน์น้อย) ส่วน “เนกขัมมะสุข” คือ สุขที่เกิดจากภายใน เป็นสุขที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม (โทษน้อย ประโยชน์มาก) สำหรับผู้ครองเรือน ยังบริโภคกาม ความสุขที่เป็น กามสุข ควรบริโภคให้น้อยลงและเพิ่มสุขที่เป็น เนกขัมมะสุข ให้มากขึ้น ซึ่งต้องมีเหตุ มีทางให้พ้นจากทุกข์นั้น คือ 1.สร้างเหตุปัจจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งโภคทรัพย์ 2. เข้าใจโลกธรรม 8 เพื่อให้เป็นผู้ที่อยู่ผาสุกได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหน 

Q: ฆราวาส ถ้าไปทำผิดศีล 5 ข้อใดข้อหนึ่ง แล้วไปทำการล้างบาป มันจะหมดเวรกรรมหรือไม่?

A: การล้างบาป ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่มีในศาสนาพุธ กิเลสไม่ได้อยู่ที่กาย การชำระล้างอาบกายไม่ได้ช่วยอะไร สิ่งใดที่ทำไปแล้ว สิ่งนั้นก็คือทำไปแล้ว เราควรหมั่นสร้างบุญกุศล ท่านเปรียบไว้ดัง เรานำเกลือ 1 ก้อน ละลายในแก้ว ผลคือจะเค็มมาก และหากนำเกลือ 1 ก้อน ละลายในแม่น้ำ ผลคือ ความเค็มจะเบาบางลง (เกลือ คือ บาป, น้ำ คือ บุญ, ผลของความเค็ม คือ ผลของบาป) การที่จะหมดเวร หมดกรรม คือ เหนือบุญ เหนือบาป สิ่งนั้นคือ “นิพพาน”


Timeline

[06:38] สำนวนที่ว่า “ฉลาดในทาง และไม่ใช่ทาง” เป็นอย่างไร?
[34:24] ทำอย่างไรคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนจึงจะอยู่อย่างมีความสุข?
[48:25] ฆราวาส ถ้าไปทำผิดศีล 5 ข้อใดข้อหนึ่ง แล้วไปทำการล้างบาป มันจะหมดเวรกรรมหรือไม่?