สูตร#1 จูฬอัสสปุรสูตร ทรงแสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย ขณะประทับอยู่ในอัสสปุรนิคมของเจ้าชายชาวอังคะ แคว้นอังคะ โดยทรงปรารภเรื่องข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ ซึ่งทรงแสดงต่อจากมหาอัสสปุรสูตร ทรงตรัสถึงภิกษุผู้ยังละกิเลสที่เป็นมลทิน เป็นโทษของสมณะ 12 ประการไม่ได้ ทรงเรียกว่า ผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ กิเลสที่เป็นมลทินแก่สมณะ คือ อภิชฌา พยาบาท ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความดีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความโอ้อวด มารยา ความปรารถนาที่เป็นบาป ความเห็นผิด และทรงกล่าวว่าการบรรพชาของภิกษุนั้นเหมือนฝักของอาวุธชื่อมตชะที่คมจัด และการเป็นสมณะไม่ได้วัดกันด้วยเครื่องแบบ และข้อวัตร

แต่ทรงแสดงถึงภิกษุผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติชอบของสมณะ คือละมลทินทั้ง 12 ประการได้ พิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ พ้นจากบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย ฯลฯ ผู้เช่นนี้ ตรัสว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันชอบของสมณะ และผู้ที่ออกบวชจากสกุลไหนก็ตาม ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ตรัสว่า เป็นสมณะ เพราะสิ้นอาสวะ.

สูตร#2 จูฬสีหนาทสูตร ทรงแสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย ณ พระเชตวัน ทรงปรารภเหตุการณ์ในขณะนั้นว่า พระองค์ และภิกษุสงฆ์มีลาภสักการะเกิดขึ้นเป็นอันมาก แต่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกกลับเสื่อมลาภสักการะ พากันร้องไห้คร่ำครวญไปตามท้องถนน พระองค์จึงตรัสสอนให้ภิกษุบันลือสีหนาทโดยชอบว่า สมณะที่ 1 ถึงที่ 4 (โสดาบันถึงอรหันต์) มีในพระศาสนานี้เท่านั้น จากนั้นทรงอธิบายว่า ถ้านักบวชลัทธิอื่นถามถึงเหตุผลที่กล่าวอย่างนี้ พึงอ้างธรรม 4 ประการ คือ ความเลื่อมใสในศาสดา ในพระธรรม บำเพ็ญศีลได้บริบูรณ์ และผู้ร่วมประพฤติธรรมทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตเป็นที่รักที่พอใจของเรา จากนั้นทรงแสดงเรื่องทิฏฐิ 2 ประการ อุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) 4 อย่าง ในตอนท้าย ทรงอธิบายหลักปฏิจจสมุปบาท

อ่าน “จูฬอัสสปุรสูตร” พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

อ่าน “จูฬสีหนาทสูตร” พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์


Timeline

[04:15] จูฬอัสสปุรสูตร ว่าด้วยเหตุการณ์ในอัสสปุรนิคม สูตรเล็ก
[25:57] พระสูตร ว่าด้วยการบันลือสีหนาทสูตรเล็ก จูฬสีหนาทสูตร