Q : กามตัณหาคืออะไร หากเกิดขึ้นแล้วเราจะระงับได้อย่างไร?

A : ตัณหา หมายถึง ความทะยานอยาก ท่านแจกแจงไว้ 3 อย่าง คือ 1) กามตัณหา คือ อยากได้ 2) ภวตัณหา คือ อยากมี 3) วิภวตัณหา คือ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น / ตัณหา หมายถึง กาม คือ ความกำหนัดยินดีพอใจ ผ่านทางวัตถุกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ใน 5 ช่องทางนี้ ถ้าเรากำหนัดยินดีพอใจ นั่นคือ กามตัณหา กาม กามกิเลส

การกำจัดระงับจิตใจที่มันจะไปตามกามตัณหา สำหรับ ฆราวาส คือ การรักษาศีล 5 ด้วย ศรัทธา หิริโอตตัปปะ และความเพียร สำหรับพระสงฆ์ คือ ใช้รูปแบบของการยืน เดิน นั่ง นอน ทำสมาธิจิตภาวนา สวดมนต์ เพื่อไม่ให้จิตหวนคิดไปในเรื่องอดีตที่ผ่านมา

ตัณหาทำให้มีปัญหา ในเรื่องของกามตัณหา คนที่ถูกบีบคั้นด้วยความอยาก เค้าจะทำอะไรก็ได้ ทั้งนี้ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ข้อเสียมีมากกว่าข้อดี ข้อดีคือมันทำให้เรามีความพยายาม ข้อเสียคือมันทำให้เราทำผิดศีลได้ เมื่อเราผิดศีล ควบคุมความอยากไม่ได้ ปัญหาจึงเกิดจากตรงนี้ คือ มันทำให้เราทำชั่วได้ ไปทางต่ำได้ เพราะถูกบีบคั้นจากตัณหา

Q : ควรวางจิตอย่างไรให้ไม่ทุกข์ เมื่อประสบเหตุร้าย ๆ ในชีวิต?

A : เราต้องทำปัญญาให้เกิด แล้วใช้ปัญญามาเป็นตัวตัดระหว่างตัณหาและอวิชชา โดยแนวทางที่จะทำให้เราเกิดปัญญาได้ ท่านอธิบายถึง “โลกธรรม 8” ว่าในขณะที่เรามีลาภ ยศ สรรเสริญ ก็ให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสิ่งเหล่านั้นว่าเราไม่ควรจะไปยึดถือมัน ในขณะที่เสื่อม ลาภ ยศ ก็ให้เห็นว่ามันเป็นธรรมดา คือ มันมีความเกิดขึ้นและดับไป เป็นธรรมดา เช่นนี้แล้ววิชชาและความรู้จะเกิด อวิชชาจะดับ เห็นอย่างนี้ ตัดลงไประหว่างตัณหาและอวิชชา เห็นการตัดตัณหาด้วยความไม่เที่ยงในสิ่งที่เป็นสุข เห็นการตัดอวิชชาในความที่เป็นธรรมดาของสิ่งที่เป็นทุกข์ ตัดลงไปครั้งเดียว ฟันทีเดียวดับทั้งตัณหาและอวิชชา ทำให้เราอยู่เหนือสุขเหนือทุกข์ได้

Q : จากกรณีข้างต้น เขาควรจะเริ่มอย่างไร สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยปฏิบัติมาก่อนหรือเพิ่งเริ่มปฏิบัติ?

A : ให้เห็นโลกทั้งหมด ว่าจะสุขหรือทุกข์มันก็เป็นแบบนี้ ให้ทำความเข้าใจ ฝึกตรงนี้ ฝึกสติ ฝึกปัญญา ตั้งแต่ตอนนี้ เมื่อฝึกแล้ว เราจะพัฒนาขึ้นมาได้

Q : เมื่อเปิดเทปธรรมะ ให้ผู้ป่วยอาการหนักฟัง แล้วเขามีจิตใจสงบ จะสามารถไปสู่สุคติสัมปรายภพได้หรือไม่?

A : ได้แน่นอน เพราะอานิสงส์ของการได้ฟังธรรมะก่อนตาย คือ จะทำให้ตรัสรู้ธรรมในปัจจุบันไม่ก่อนหรือไม่หลังจากการตายนั้น จะเป็นอนาคามี เมื่อมีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้า การฟังธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้า จะเกิดความเข้าใจบางประการ คือ เกิดปัญญา เข้าใจทุกข์ด้วยปัญญา อินทรีย์เค้าจะแก่กล้าขึ้นมาทันที เพราะทุกข์จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างปัญญาและศรัทธา

Q : การวางจิตใจสำหรับคนรอบข้างของผู้เจ็บป่วยไข้

A : ให้เรารักษาสติ “สติ” สำคัญที่สุด


Timeline

[03:55] กามตัณหาคืออะไร หากเกิดขึ้นแล้วเราจะระงับได้อย่างไร?
[10:22] ตัณหาทำให้มีปัญหา
[29:25] ควรวางจิตอย่างไรให้ไม่ทุกข์เมื่อประสบเหตุร้าย ๆ ในชีวิต?
[38:25] จากกรณีข้างต้น สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยปฏิบัติมาก่อนหรือเพิ่งเริ่มปฏิบัติ ควรเริ่มอย่างไร?
[43:08] เมื่อเปิดเทปธรรมะให้ผู้ป่วยอาการหนักฟัง แล้วเขามีจิตใจสงบ จะสามารถไปสู่สุคติสัมปรายภพได้หรือไม่?
[51:45] การวางจิตใจสำหรับคนรอบข้างของผู้เจ็บป่วยไข้