Q : คำกล่าวที่ว่า “ทำสมาธิไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ทำกรรมฐาน จะไม่สามารถบรรลุธรรมได้” ถูกต้องหรือไม่อย่างไร?
A : เมื่อเราฟังคำของใคร คนใดคนหนึ่งเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้เราจดจำและกำหนดบทพยัญชนะให้ดี แล้วนำไปเทียบเคียงในพระสูตร ตรวจสอบในพระธรรมวินัย หากลงรับกัน เราสามารถนำมาทำ นำมาปฏิบัติได้ ให้ทรงจำไว้ ในที่นี้ สมาธิ ท่านผู้ถาม น่าจะหมายถึง “สมถะ” อย่างเดียว ส่วน กรรมฐาน ท่านผู้ถามน่าจะหมายถึง “วิปัสสนา” ในทางคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งสมถะและวิปัสสนา ต้องเคียงคู่กันไป จึงจะเบื่อหน่ายคลายกำหนัดและสามารถปล่อยวางได้ จะมีอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวไม่ได้
Q : บางครูบาอาจารย์บอกว่า ขันธ์เป็นกิเลส กิเลสอาศัยขันธ์ หรือแม้แต่ ขันธ์เป็นกลาง ๆ เป็นเพียงธรรมชาติ ขันธ์นี้เป็นอย่างไรกันแน่ ?
A : ขันธ์ หมายถึง กอง / ท่านบัญญัติขึ้นเพื่ออธิบายความจริงอันประเสริฐเรื่องทุกข์ ว่า “ขันธ์ 5” ได้แก่ 1. กองแห่งรูป 2. กองแห่งเวทนา 3. กองแห่งสัญญา 4. กองแห่งสังขาร 5. กองแห่งวิญญาณ ที่เข้าไปยึดถือได้ เมื่อตัณหาเข้าไปยึดถือใน ขันธ์ 5 จึงทำให้เกิด “กิเลส” (ราคะ โทสะ โมหะ) ขึ้น ก็จะทำให้เกิดทุกข์ ขันธ์ 5 ที่ไม่มีความยึดถือจะไม่เป็นทุกข์ เราต้องเอาตัณหา อุปาทาน (ความยึดถือ) ออกจากขันธ์ 5 ด้วยการปฏิบัติตามมรรค 8 เราก็จะไม่ทุกข์อีก
Q : การปฏิบัติมีแต่นักพูดเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ค่อยมีการปฏิบัติในเรื่องของศีลห้า ศีลแปด ศีล 227 หรือแม้แต่ศีลในองค์มรรค ศีลเป็นอันเดียวกันหรือไม่?
A : เรื่องการพูดกับการปฏิบัติ เป็นสองส่วนที่สำคัญและต้องไปด้วยกัน 1. “พระธรรม” คือ คำสอนที่พระพุทธเจ้าประกาศตรัสไว้ดีแล้ว จะบอกต่อได้ ก็ต้องมีการพูด ซึ่งการพูด แม้จะยังทำไม่ได้ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาคำสอน และหากพูดแล้วนำมาทำ นำมาปฏิบัติ ก็จะได้รู้รสของพระธรรม จะดียิ่ง ๆ ขึ้นไป 2. ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอน คือ “สาวก” เป็นหมู่ผู้ที่ฟังคำสอนของพระผู้มีพระภาค ปฏิบัติตามคำสอนและปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ / เรื่องศีล หากนำไปเทียบเคียงในพระสูตร กองศีลในมรรค 8 สังเคราะห์กันได้ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สังเคราะห์ลงใน “ศีลขันธ์” คือ กองศีล
Q : การเข้าไปรู้แล้วดับกิเลส เราจะเข้าไปดับตรงไหนและเอาอะไรไปดับ?
A : กิเลสมีผัสสะเป็นแดนเกิด เกิดขึ้นที่จิตเอง ไม่ได้มาจากภายนอก หากจะดับก็ต้องดับที่จิต จะดับได้ด้วยการใช้ปัญญา เพราะฉะนั้น เราต้องมี “สติ” กำหนดลงไป หาว่าตรงไหนมันทุกข์ พอเราเห็นว่าทุกข์ตรงไหนแล้ว ให้เอามีด คือ ปัญญา ผ่าลงไป ๆ พิจารณาให้เห็นไปตามความเป็นจริง ทำความเพียรด้วยปัญญา ทำความเพียรคู่กับสมาธิ ปัญญาคู่กับศรัทธา เวลาเราทำความเพียร เราจะต้องเอาศรัทธาและสมาธิประคองไว้ ทำให้สมดุลกัน พอขูดลอกกิเลสออกหมดแล้ว จิตสงบ ให้เราประคับประคองไว้ด้วยสมาธิ ศรัทธา ให้เรารักษาให้ดี ทั้งการสำรวมอินทรีย์ การรักษาศีล 8 เดินตามมรรค 8 เราก็จะมีความพ้น คือ วิมุต ไปสู่นิพพานได้
Q : กิเลสกับจิตเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ ถ้าขันธ์เป็นกิเลส เราจะเอากิเลสไปดับกิเลสได้อย่างไร?
A : ขันธ์ 5 และจิต ไม่ใช่กิเลส จะดับกิเลสต้องอาศัยมรรค 8
Timeline
[02:17] คำกล่าวที่ว่า “ทำสมาธิไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ทำกรรมฐาน จะไม่สามารถบรรลุธรรมได้” ถูกต้องหรือไม่อย่างไร?
[12:50] บางครูบาอาจารย์บอกว่า ขันธ์เป็นกิเลส กิเลสอาศัยขันธ์ หรือแม้แต่ ขันธ์เป็นกลาง ๆ เป็นเพียงธรรมชาติ ขันธ์นี้เป็นอย่างไรกันแน่?
[22:56] การปฏิบัติมีแต่นักพูดเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ค่อยมีการปฏิบัติในเรื่องของศีลห้า ศีลแปด ศีล 227 หรือแม้แต่ศีลในองค์มรรค ศีลเป็นอันเดียวกันหรือไม่?
[34:20] การเข้าไปรู้แล้วดับกิเลส เราจะเข้าไปดับตรงไหนและเอาอะไรไปดับ?
[53:55] กิเลสกับจิตเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ ถ้าขันธ์เป็นกิเลส เราจะเอากิเลสไปดับกิเลสได้อย่างไร?