สูตร#1 เวขณสสูตร ทรงแสดงแก่ปริพาชกชื่อ เวขณสะ ขณะประทับอยู่ พระเชตวัน เขตกรุงสาวัตถี ทรงปรารภคำอุทานของเวขณสปริพาชก ซึ่งทำทีเปล่งอุทานในสำนักของพระองค์ให้ทรงได้ยินว่า “นี้เป็นวรรณะสูงสุด นี้เป็นวรรณะสูงสุด”

ทรงตรัสถามความหมายของวรรณะสูงสุด แต่เขากราบทูลแต่คำเดิม จึงทรงตรัสว่า เวขณสะใช้คำพูดเลื่อนลอย เปรียบเหมือนชายหนุ่มที่รักหญิงงามแต่ไม่รู้ว่านางเป็นใคร ไม่รู้จักชื่อ ตระกูล ลักษณะและที่อยู่

ในที่สุดเวขณสปริพาชกยอมอธิบายว่า หมายถึง อัตตาที่ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีวรรณะเหมือนแก้วไพฑูรย์ ฯลฯ ส่องแสงสว่างเป็นประกาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงสิ่งที่ส่องสว่างกว่านั้น และแต่ละอย่างส่องแสงสว่างยิ่งกว่าวรรณะที่เขากล่าวถึง

จากนั้นได้ตรัสกามคุณ 5 กามสุข และความสุขอันเลิศกว่ากามสุข มีเพียงพระอรหันตขีณาสพเท่านั้นที่จะรู้ได้ เวขณสะได้ฟังเช่นนั้นก็โกรธ กล่าวหาว่าทรงตรัสถึงพระอรหันตขีณาสพโดยไม่รู้จริง จึงทรงท้าทายให้เขาเข้ามาปฏิบัติ ตามคำสั่งสอนของพระองค์ ก็จะรู้เองเห็นเอง เวขณสปริพาชก จึงยอมแสดงตนเป็นอุบาสกตลอดชีวิต

สูตร#2 จูฬสกุลุทายิสูตร ทรงแสดงแก่สกุลุทายีปริพาชก ณ อารามของปริพาชก เขตกรุงราชคฤห์

สกุลุทายีได้สนทนาธรรมกับพระผู้มีพระภาคถึงเรื่องนิครนถ์ นาฏบุตรซึ่งอ้างว่าตนเป็นสัพพัญญู เห็นสิ่งทั้งปวง แม้ขณะเดิน หยุด หลับ และตื่น แต่พอถูกถามปัญหาเรื่องการระลึกชาติในอดีตกลับเอาเรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อน พูดนอกเรื่อง ทั้งแสดงอาการโกรธไม่พอใจ ด้วยเหตุนี้ ทำให้เขาระลึกถึงพระผู้มีพระภาคมีแต่พระองค์เท่านั้นที่ทรงทราบเรื่องนี้จริงๆ

จากนั้นทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทให้ฟัง และทรงตรัสถามถึงความเห็นในลัทธิของปริพาชกเกี่ยวกับวรรณะสูงสุด และปัญหาเรื่องโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว (โลกที่ไม่มีทุกข์) ทรงซักไซร้ ไล่เลียงจนสกุลุทายีปริพาชกยอมรับว่า ลัทธิของตนว่างเปล่า และผิดไปหมด

จากนั้นทรงแสดงข้อปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว คือ ฌาน 4 และวิชชา 3 เมื่อทรงแสดงธรรมจบสกุลุทายีปริพาชกขอบวชแต่ลูกศิษย์ห้ามมิให้บวช

อ่าน “เวขณสสูตร” พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

อ่าน “จูฬสกุลุทายิสูตร” พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์


Timeline

[03:59] พระสูตร ว่าด้วยปริพาชกชื่อเวขณส เวขณสสูตร
[04:54] ตอน เปรียบเทียบวรรณ 2 อย่าง
[15:28] ตอน สรรเสริญสุขอันเป็นที่สุดของกาม
[21:42] จูฬสกุลุทายิสูตร