Q: การเผยแผ่ธรรมะ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ควรวางตัวอย่างไร?

A: การแนะนำ ชักชวน หรือแชร์โพสต์ธรรมะ ก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่ควรจะชักชวนกัน ดีกว่าชวนกันไปกิน ไปดื่ม ไปเล่น ปรารภเรื่องของกาม ในโลกที่ชุ่มอยู่ด้วยกาม พอมีคนพูดเรื่องให้หลีกออกจากกาม การที่จะมีคนว่าแปลกนั้นเป็นเรื่องธรรมดา

Q: มีบางคนพูดว่า “ไม่ต้องให้เงินพระหรอก” การพูดแบบนี้ เรียกว่ามี “มิจฉาทิฏฐิ”หรือไม่ หากมีผลของกรรมเป็นอย่างไร?

A: เมื่อได้ยิน ได้ฟังเรื่องใด ให้นำมาพิจารณา ใคร่ครวญ ว่าผู้กล่าวเป็นผู้ที่ ไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ หรือไม่? พระพุทธเจ้า ท่านเป็นผู้ที่ ไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เราควรฟังคำสอนของท่าน ท่านได้สอนเรื่อง “การแบ่งจ่ายทรัพย์” ซึ่งในหน้าที่ ข้อที่ 4 คือ อุทิศให้แก่ สมณพราหมณ์ คือ ผู้ที่หลีกออกจากเรือน เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นเนื้อนาบุญ สมณพราหมณ์ท่านไม่ได้ยินดีใน เงินและทอง แต่ยินดีในปัจจัยสี่ที่เขานำมาถวายได้ ดังนั้น คำว่า “ไม่ต้องให้เงินพระหรอก” เราก็ควรจะทำปัจจัย 4 ที่มีความเหมาะสมกับสมณพราหมณ์เหล่านั้น เพื่อให้หน้าที่ที่ 4 ของเรามีความถูกต้อง เพื่อให้ชีวิตของเรา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยธรรม เป็นสุขทั้งในปัจจุบัน และต่อไปในภายภาคหน้า

Q: ถามปัญหาธรรมะกับหลายๆ วัด หรือกับพระหลายๆ รูป ดีหรือไม่?

A: เป็นข้อปฏิบัติที่ควรทำอยู่แล้ว การเข้าไปสอบถามกับสมณะว่า “อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล” นั้น เป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญา เมื่อสอบถามแล้ว ก็ให้พิจารณา ใคร่ครวญ ว่าตรงตามแม่บทคำสอนของท่าน หรือไม่ เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ไม่หลงประเด็น แล้วนำมาทำ มาปฏิบัติ จนกระทั่งอยู่ในกาย วาจา ใจ ซึ่งจะดูได้จากการกระทำที่มีศีล สมาธิ ปัญญาของคนๆ นั้น ก็คือ ให้ดูที่ตัวเราเอง นั่นเอง

Q: อาการนอนไม่ค่อยหลับ โดยเฉพาะวันพระ 8 ค่ำหรือ 15 ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม ควรแก้ไขอย่างไร?

A: ในทางคำสอนของท่าน แยกเป็น 2 อย่าง คือ 1. การตื่นอยู่เสมอ คือ จิตเป็นสมาธิ รู้สึกตัวอยู่ตลอด ตื่นตลอดด้วยจิตที่สว่าง ไม่ง่วง แจ่มใส สดชื่น เพราะได้รับการพักผ่อนในสมาธิ

2. เป็นโรคนอนไม่หลับ คือ จะง่วงอยู่ตลอด แต่นอนไม่หลับ รู้สึกนอนไม่พอตลอดเวลา เพลีย ท่านได้เคยตรัสสอนเรื่องการนอนไว้ว่า ให้น้อมจิตไปเพื่อการหลับ เมื่อหลับแล้วก็ตั้งจิตไว้ว่าจะไม่คิดไปในเรื่องทางกาม พยาบาท และเบียดเบียน รู้สึกตัวแล้วเมื่อไรให้ลุกขึ้นทันที การตั้งจิตอยู่แบบนี้จะการประกอบตนอยู่ในธรรมอันเป็นเครื่องตื่นได้

Q: ปฏิบัติตนอย่างไรในชีวิตประจำวัน เพื่อให้มีธรรมอยู่ในอิริยาบถต่างๆ?

A: ฝึกให้มีสติอยู่กับทุกๆ อิริยาบถ ทุกเวลา ทุกสถานที่ เพราะสติอยู่ที่ใจ 

Q: การเขียนชื่อ และฉายาของพระอาจารย์มหาไพบูลย์ฯ อย่างไรจึงถูกต้อง และมีความหมายอย่างไร?

A: เขียนว่า “พระมหาไพบูลย์ อภิปุณฺโณ” ซึ่ง “ไพบูลย์” มีความหมายว่า เต็มเปี่ยม และ “อภิปุณฺโณ” แปลว่า ผู้มีบุญอันยิ่ง


Timeline

[01:19] ในเรื่องการเผยแผ่ธรรมะ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ควรวางตัวอย่างไร?
[12:35] มีบางคนพูดว่า “ไม่ต้องให้เงินพระหรอก” การพูดแบบนี้เรียกว่ามี “มิจฉาทิฏฐิ”หรือไม่ หากมีผลของกรรมเป็นอย่างไร?
[23:59] ถามปัญหาธรรมะกับพระหลายๆ วัด หลายๆ รูป ดีหรือไม่?
[38:07] คำถามในเรื่อง “นอนไม่ค่อยหลับ” โดยเฉพาะวันพระ 8 ค่ำหรือ 15 ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม
[42:31] คำถามในเรื่องของ “การปฏิบัติตนอย่างไรในชีวิตประจำวัน เพื่อให้มีธรรมอยู่ในอิริยาบถต่างๆ”
[46:38] การเขียนชื่อและฉายาของพระอาจารย์มหาไพบูลย์ฯ อย่างไรจึงถูกต้อง และมีความหมายอย่างไร?