ปฏิบัติภาวนาด้วยการเจริญอานาปานสติ เริ่มจากการตั้งสติ เพื่อให้เราฝึกทักษะการสังเกตอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก ลมหายใจ สังเกตุทั้งกาย และจิต เพื่อการแยกแยะ มีสติแล้วสมาธิก็ตั้งมั่น จนเกิดปัญญาวุธ คือ ปัญญาที่เห็นทุกสิ่งในโลกนั้น เป็นสมมติ ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา พิจารณาซ้ำๆ ลงไปก็จะเห็นตามความเป็นจริง

เมื่อเกิดปัญญาวุธ เราจึงเห็นทุกสิ่งๆ มีแค่ “ธาตุ” เป็นองค์ประกอบ หาใช่ตัวเราไม่ หากแต่เรามีอุปาทานไปยึด ไปเกาะ ที่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เราจะกำจัดอุปาทานได้ เราต้องพิจารณาขันธ์ทั้งห้า ว่าไม่เที่ยง เป็นอนัตตา พิจารณาย้ำ ซ้ำลงไปอีก จนจิตคลายกำหนัด คลายความยึดถือ อุปาทานก็จะลอกออกๆ กิเลสจะลดลงๆ

แต่เรายังไม่สามารถถอนราก เหง้าของกิเลสนั่น คือ “ตัณหา และอวิชชา” ซึ่งอยู่ใน “จิต” ของเราได้ จนกว่าเราจะพิจารณาเห็น “ความไม่เที่ยงของจิต” บางทีก็เป็นประภัสสร บางทีก็เศร้าหมอง เมื่อไม่เที่ยง แม้แต่จิตเราก็ไม่เอา อวิชชา ตัณหาก็ดับ ความดับเย็นนั้น คือ นิพพาน นั้นคือ “ชัยชนะอันไม่กลับแพ้”

รักษาความชนะที่ชนะแล้วได้ดี ไม่มีความอาลัย เป็นผู้ไม่ติดถิ่นที่อยู่ (กิเลส) ด้วย “ปัญญาวุธ”


Timeline
[01:13] ปฏิบัติภาวนาด้วยการเจริญอานาปานสติ
[07:51] ตั้งสติเป็นเครื่องสังเกต เพื่อให้จิตสามารถแยกแยะ
[13:21] ปัญญาวุธ
[25:11] ทุกสิ่งในโลกล้วนเป็นของสมมุติ และเป็นอนัตตา
[35:40] กำจัดอุปาทาน ต้องพิจารณาที่ขันธ์ห้า
[44:00] กำจัดตัณหา และอวิชชา ต้องพิจารณาที่จิต
[50:50] พึงรักษาความชนะที่ชนะแล้ว