ใคร่ครวญมาในธรรมในหัวข้อศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้วอย่างไรจึงจะชื่อว่าเป็นการได้อันยอดเยี่ยม ศรัทธาเป็นแรงผลักดันให้มีการลงมือกระทำ และเป็นตัวประสานสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน ในขณะที่ศีลจะเป็นพื้นฐานที่หนักแน่นให้ยืนอยู่ได้ ศรัทธา คือ ความเชื่อ ปสาทะ คือ ความเลื่อมใส เกิดได้จาก 3 ทาง คือ

ประการที่ 1: ศรัทธาที่เกิดจากปัญญา ปัญญาจะเกิดได้ต้องมาจากการศึกษา การศึกษามาจากการฟัง ศรัทธาจึงฟัง ฟังจึงศึกษา ศึกษาจึงเกิดปัญญา ปัญญานั้นก่อให้เกิดศรัทธา ศรัทธาต้องเป็นระดับนิวิฎฺฐสทฺโธ ปสาทะต้องเป็นระดับนิวิฏฺฐเปโม คือ ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ศรัทธาที่ตั้งมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต้องเป็นศรัทธาในระบบ ไม่ใช่ศรัทธาที่ตั้งไว้บนความรักความพอใจ เพราะศรัทธาต่อตัวบุคคลจะก่อให้เกิดโทษแห่งความเลื่อมใสนั้นได้ ศรัทธาในพุทโธ พุทโธไม่ใช่บุคคล แต่เป็นระบบของการตรัสรู้ ธัมโม คือ สิ่งที่จะเข้ามาสู่ใจ เป็นธรรมที่มีการปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ใช่แค่ตัวอักษร สังโฆ คือ กลุ่มที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สุปฏิปัณโณ จึงจะไม่เป็นการประทุษร้ายต่อสกุล

ประการที่ 2: ศรัทธาเกิดจากกัลยาณมิตร และการโยนิโสมนสิการ กัลยาณมิตร คือ กัลยาณธรรมจะทำให้ได้ฟังธรรม เป็นการให้จากภายนอก โยนิโสมนสิการ คือ การทำในใจโดยแยบคาย เป็นจุดเชื่อมสมองเข้าสู่ใจ เป็นการรับเข้าภายใน

ประการที่ 3: ทุกข์เป็นที่ตั้งอาศัยของศรัทธา ทุกข์จะทำให้เห็นธรรมก็ต่อเมื่อเลือกทางออกจากทุกข์นั้นได้ถูกต้อง ไม่จมลงในทุกข์ เพราะจิตนั้นตริตรึกไปทางไหน สิ่งนั้นจะมีพลัง จะถูกยกสูงขึ้นทันที เป็นการนำสถานการณ์มาใช้ ใช้ทุกข์ให้เกิดปัญญา


Timeline
[00:03] ใคร่ครวญมาในธรรม ศรัทธาอันตั้งมั่น คือ การได้อันยอดเยี่ยม
[06:34] ลงทุนอะไรจึงจะเกิดศรัทธา
[12:51] ศรัทธาที่เกิดจากปัญญา
[16:56] ศรัทธาในระบบไม่ใช่ที่ความรักความพอใจในบุคคล
[39:17] ศรัทธาที่เกิดจากกัลยาณมิตร และการโยนิโสมนสิการ
[48:01] ศรัทธาที่เกิดจากทุกข์
[57:05] สรุป