สูตร#1 สมณมุณฑิกสูตร ทรงแสดงแก่ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภข้อบัญญัติเรื่องคุณสมบัติของผู้เป็นสมณะของอุคคาหมานปริพาชก ซึ่งช่างไม้ปัญจกังคะนำเข้าไปกราบทูลให้ทรงทราบ อุคคาหมานะกล่าวถึงข้อบัญญัติของตนว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม 4 ประการเป็นผู้มีกุศลเพียบพร้อม มีกุศลยอดเยี่ยม เป็นสมณะผู้บรรลุธรรมขั้นสูงที่ควรบรรลุ ไม่มีใครสู้วาทะได้ ธรรม 4 ประการ คือ ไม่ทำกรรมชั่วทางกาย ทางวาจา ไม่ดำริความดำริชั่ว และไม่ประกอบอาชีพชั่ว ทรงตรัสว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เด็กอ่อนที่ไม่รู้จักกรรมชั่ว ไม่เคยทำกรรมชั่วก็จะกลายเป็นผู้มีกุศลเพียบพร้อม ทรงไม่ยอมรับการบัญญัติเช่นนั้น แล้วทรงแสดงเสขธรรม (ธรรมสำหรับผู้เป็นพระเสขะ) คือ ความรู้เรื่องศีล และความดำริ ทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล พร้อมทั้งสมุฏฐานความดับและข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งศีลและดำริ และอเสขธรรม (ธรรมของพระอเสขะ) คือ อเสขธรรม 10 ประการ

สูตร#2 โจทนาสูตร ท่านพระสารีบุตรแสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้เป็นโจทก์ แสดงว่า ภิกษุผู้เป็นโจทก์ควรมีธรรม 5 ประการ เพื่อไม่ให้มีวิปปฏิสาร (ความเดือดร้อนใจ) แก่ทั้งผู้โจทก์ และผู้ถูกโจทก์ ธรรม 5 ประการได้แก่ กล่าวในกาลอันควร กล่าวถ้อยคำจริง กล่าวถ้อยคำอ่อนหวาน กล่าวถ้อยคำมีประโยชน์ และกล่าวด้วยเมตตาจิต

สูตร#3 วุฏฐิสูตร ว่าด้วยการบันลือสีหนาทของท่านพระสารีบุตร พระพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลว่าท่านพระสารีบุตรกระทบตนแล้วไม่ขอโทษก่อนจาริกไป จึงรับสั่งให้ตามท่านพระสารีบุตรมา ระหว่างนั้น พระมหาโมคคัลลานะและพระอานนท์ได้ป่าวประกาศเชิญชวนให้คนไปฟังท่านพระสารีบุตรบันลือสีหนาท ณ เบื้องพระพักตร์ พระสารีบุตรบันลือสีหนาทว่า ภิกษุที่ไม่ตั้งกายคตาสติไว้ในกายเท่านั้นที่กระทบเพื่อนพรหมจารีแล้วไม่ขอโทษก่อนจากไป แต่ท่านไม่มีความประพฤติเช่นนั้น และได้ยกอุปมาอุปมัยเปรียบเทียบการวางจิตของท่าน เมื่อแสดงธรรมจบ ภิกษุรูปนั้นรู้ว่าตนผิดจึงกราบขอโทษท่านพระสารีบุตร

อ่าน “สมณมุณฑิกสูตร” พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

อ่าน “โจทนาสูตร” พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

อ่าน “วุฏฐิสูตร” พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต


Timeline
[03:06] ว่าด้วยปริพาชกชื่ออุคคาหมานะ สมณมุณฑิกาบุตร / สมณมุณฑิกสูตร
[30:27] คุณสมบัติของภิกษุผู้เป็นโจทก์ / โจทนาสูตร
[45:52] พระสารีบุตรถูกโจทก์ / วุฏฐิสูตร