สิ่งดีงามต่างๆ ถ้าได้ไปอยู่ในมือของผู้ที่มีความเห็นที่ถูกต้อง เป็น “สัมมาทิฏฐิ” สิ่งนั้นจะเป็นไป “เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข เพื่อประโยชน์กับตนเอง และผู้อื่น”

และในสิ่งดีงามที่มีอยู่เช่นเดิม ถ้าไปอยู่ในมือของผู้ที่มีความเห็นผิด เป็น “มิจฉาทิฏฐิ” สิ่งนั้นจะ “เป็นทุกข์ ไม่เกื้อกูล ไม่เป็นประโยชน์กับตนเอง และผู้อื่น”

ปฏิสัมภิทาปัตตสูตร #ข้อ86 คือ ปฏิสัมภิทา4 ปัญญาแตกฉานใน อรรถ (เข้าใจความหมายได้หลายนัยยะ), ธรรม, นิรุตติ (เข้าใจภาษาได้ลึกซึ้ง), ปฏิภาณ (ไหวพริบถาม-ตอบปัญหา) และข้อ5 ขยัน ไม่เกียจคร้าน

สีลวันตสูตร #ข้อ87 เป็นผู้มีความงามของศีล, เป็นพหูสูต เวลาบอกสอนมีข้อมูลพร้อม, พูดจาไพเราะ, มีสมาธิ, มีปัญญา

ผู้ที่ประกอบด้วยธรรมใน #ข้อ86และ #ข้อ87นี้ “ย่อมเป็นที่รัก ที่น่าเคารพยกย่อง”

เถรสูตร #ข้อ88 ธรรมที่ไม่เกื้อกูล ไม่ใช่ประโยชน์แก่คนหมู่มาก คือ เป็นผู้บวชมานาน, มีชื่อเสียง ยศ บริวาร, ร่ำรวยด้วยปัจจัย 4, เป็นพหูสูต, เป็น มิจฉาทิฏฐิ (อกุศลเพิ่ม) และธรรมที่เกื้อกูล เป็นประโยชน์แก่คนหมู่มาก จะเหมือนกันใน 4 ประการแรก แตกต่างกันในประการที่ 5 คือ เป็น สัมมาทิฏฐิ คือ อกุศลลด กุศลเพิ่ม วางความยึดถือลงได้

ปฐมเสขสูตร #ข้อ89 ธรรมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ผู้ที่เป็นเสขะ (ยังต้องศึกษา) คือ ชอบการงาน, พูดคุย, หาความสุขในการนอน, ชอบคลุกคลี, ไม่พัฒนาคุณธรรมให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไป และธรรมเพื่อความเจริญ คือ ตรงข้ามกับที่กล่าวมา

ทุติยเสขสูตร #ข้อ90 มีกิจมาก, ปล่อยเวลาล่วงไป, คลุกคลีกับคฤหัสถ์, ออกบิณฑบาตเช้า-กลับสายนัก, ไม่ประกอบด้วยธรรมกถาต่างๆ แล้วละการหลีกเร้น จิตไม่เป็นสมาธิ เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ผู้ที่เป็นเสขะ และธรรมเพื่อความเจริญ คือ ตรงข้ามกับที่กล่าวมาแล้ว

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต เถรวรรค ข้อที่ 86-90