ในข้อ 51 และ 52 เป็นเรื่องเกี่ยวกับนิวรณ์ และการแก้ไข นิวรณ์ หมายถึง เครื่องกั้น เครื่องลวง เครื่องห่อ เครื่องหุ้มเอาไว้ บังเอาไว้ ครอบงำจิต บังจิต หุ้มห่อจิต รัดรึงจิต เพื่อไม่ให้เกิดปัญญา เหมือนมีสนิมเคลือบที่มีดทำให้ไม่คม องค์รวมของมัน คือ ทำจิตให้ไม่มีกำลังปัญญา มีนิวรณ์ที่ใดที่นั้นไม่มีสมาธิ นิวรณ์มี 5 อย่าง คือ

1) กามฉันทะ คือ ความพอใจในกาม: กามหรือกิเลสกาม คือ ความกำหนัดยินดีลุ่มหลงในวัตถุกาม วัตถุกาม คือ วัตถุที่สามารถทำให้เกิดความกำหนัดยินดี ในแต่ละคนจะไม่เหมือนกันความหยาบละเอียดต่างกันอยู่ที่กำลังจิตของคนนั้นๆ กามฉันทะ คือ ความพอใจในกาม เป็นสิ่งที่เกิดก่อนกามกิเลส กามฉันทะทำให้เกิดกิเลสกามได้ทั้งสิ่งที่ล่วงไปแล้ว และสิ่งที่กำลังจะมาถึง จึงต้องมีสติอยู่เสมอ

2) ความพยาบาท คือ ความคิดร้ายผูกเวร ถ้าเราสร้างรติในที่ใด ก็จะมีอรติในอีกที่หนึ่งเสมอ แล้วจะไล่มาเป็นปฏิฆะ โกธะ โทสะ และพยาบาทในที่สุด

3) ถีนมิทธะ คือ ความหดหู่ ความเซื่องซึม แก้ด้วยวิธีทั้ง 8 และสติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์

4) อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ แก้ด้วยปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ และการสำรวมอินทรีย์

5) วิจิกิจฉา คือ ความลังเล เคลือบแคลง สงสัย คำถามทุกคำถามไม่ได้จะเป็นวิจิกิจฉาทั้งหมดขึ้นอยู่ที่ศรัทธา

ในข้อที่ 53 ถ้าเราจะทำความเพียรเพื่อให้เกิดผล คือ สติ และปัญญา ต้องมีคุณสมบัตินี้ คือ มีศรัทธา มีอาพาธน้อย ไม่มีมายา มีความเพียร มีปัญญา

และในข้อที่ 54 เป็นการเปรียบเทียบในสมัยที่จะทำความเพียรได้ผลมากหรือน้อย โดยมีความสัมพันธ์กับข้อที่ 52 คือ สมัยที่เป็นคนแก่ มีอาพาธ ข้าวยากหมากแพง มีการปล้น สมัยที่ภิกษุแตกกัน จะเห็นว่าสมัยเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังโชคดีที่ยังมีช่องให้ผ่านไปได้

พระสุตตันตปิฏก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต: นีวรณวรรค ข้อที่ 51-54