Q1: เพื่อความเข้าใจและความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง โดยไม่หลงเอาตัวเราไปเป็นผู้รู้ จึงต้องการทราบคำอธิบายอย่างละเอียดว่า จิตกับใจต่างกันอย่างไร 

จากคำภาษาบาลี มโนคือใจ จิตก็คือจิต ทั้งสองคำต่างกันที่ มโนคือช่องทาง มีเพิ่มเติมโดยยกศัพท์ขึ้นมาอธิบายเพื่อประกอบความเข้าในในที่นี้ คือ วิญญาณ (การรู้แจ้ง, การรับรู้) และส่วน จิต หมายถึง สภาวะแห่งการสั่งสม (อาสวะ) ทั้งสิ่งที่เป็นบุญและสิ่งที่เป็นบาป, การคิดนึกปรุงแต่งให้มีความจิตพิสดารได้ เพราะความที่มีการสั่งสมนี่แหละ ทำให้มันมีความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตนของมันขึ้นมา มีการปรุงแต่งให้เป็นตัวของมันเองขึ้นมา 

เพราะฉะนั้นจิตสามารถที่จะเข้าไปยึดถือวิญญาณโดยความเป็นตัวตนได้ จิตนี้สามารถที่จะเข้าไปยึดถือรูปโดยความเป็นตัวตนได้ สิ่งที่จะเข้าไปมีความยึดถือนั้นคือจิต ไม่ใช่ใจ ไม่ใช่วิญญาณ ดังนั้นเราจะต้องมีการฝึกสติให้สามารถที่จะแยกแยะได้ว่า  จิตก็อันหนึ่ง ใจก็อันหนึ่ง วิญญาณก็อันหนึ่ง ธรรมารมณ์ก็อันหนึ่ง มีการทำงานต่างกัน 

“ดูก่อนพราหมณ์ อินทรีย์ ๕ ประการนี้มีอารมณ์ต่างกัน มีทางโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นทางโคจรของกันและกัน…อินทรีย์ ๕ ประการ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (มโน) ย่อมเป็นที่ยึดเหนี่ยวร่วมของอินทรีย์ ๕ ประการนี้ และใจ ย่อมเสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของอินทรีย์ ๕ ประการนี้… สติเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งใจ วิมุติเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งสติ นิพพานเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งวิมุต ด้วยว่าพรหมจรรย์ที่บุคคลอยู่จบแล้วมีนิพพานเป็นที่หยั่งลง มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด…”อุณณาภพราหมณสูตร 

Q2: นิพพานคืออะไร 

“นิพพาน” ตามศัพท์แปลว่า ดับ เย็น โดยนัยยะทั่ว ๆ ไป หมายถึง เริ่มตั้งแต่อะไรเล็ก ๆ น้อยที่มันเกิดขึ้นและจะดับไปได้ เย็นได้ มาจนถึงนัยยะที่ละเอียดที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศสอนไว้อย่างดีแล้ว นั่นคือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ไม่มีการกลับกำเริบขึ้นมาอีก เป็นที่สุดจบของการปฏิบัติในธรรมะวินัยนี้ เหนือจากความเป็นของสมมติได้ 

Q3: ขอคำอธิบายอย่างละเอียดของคำว่า สติ สัมปชัญญะ สมาธิ ปัญญา และการประคองสติ 

“สติ” หมายถึง การระลึกถึงสิ่งที่ทำ จำคำที่พูดแล้วแม้นานได้ , ให้มีสติเพ่งจดจ่ออยู่ คือ ฌาน เมื่อรวมลงเป็นอารมณ์อันเดียวเป็นสมาธิ, “สัมปชัญญะ” เป็นเครื่องหนุนให้สติมีอยู่ ให้ดีอยู่ และมีกำลังอยู่ได้ ส่วน “การประคองสติ” เป็นไปเพื่อการทำสมาธิและปัญญาให้มีความต่อเนื่องต่อไปได้” 

วิญญาณรับรู้ในสิ่งใดแล้ว จะสามารถรู้แจ้งเข้าใจสิ่งนั้น ๆ ได้ ความรู้ชัดเข้าใจชัด นั่นคือ “ปัญญา” 

Q4: ปกติผู้ถามไม่ค่อยได้ไปวัด แต่จะทำบุญโดยการโอนบริจาคทุกวัน​ ในช่วงทำบุญกฐิน​ตนเองตั้งใจจะทำบุญกฐิน​ แต่โอนผิด​ไปทำบุญอีกบัญชีหนึ่งของวัด​ อย่างนี้เราจะได้บุญกฐินตามที่เราตั้งใจไว้หรือไม่ 

ขึ้นอยู่กับผู้ให้ทานว่าได้มีการตั้งจิตไว้ให้ถูกต้องหรือไม่ และผู้รับมีความบริสุทธิ์หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่มีการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นเนื้อนาบุญ ขอให้สบายใจ แต่ถ้าเรายังกังวลว่าเราจะได้บุญหรือไม่ได้บุญ อันนี้จะทำให้จิตมีความเศร้าหมอง 

ดังนั้นอย่างน้อยให้เราสามารถควบคุมจิตใจของเรา ให้ตั้งอยู่ในศรัทธาก่อนให้ ระหว่างให้ และหลังให้ มีการตั้งจิตไว้ในหมู่สงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไม่ว่าจะวัดไหนก็ได้เหมือนกัน เพราะถือว่าเป็นตัวแทนของหมู่สงฆ์ที่ฏิบัติดีปฏิบัติชอบ 

 [๗๑๙] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ได้ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ต่อไปอีกว่า(๑) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลแห่งกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล ทักษิณาของผู้นั้น ชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ฯ(๒) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ฯ(๓) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล เราไม่กล่าวทานของผู้นั้นว่า มีผลไพบูลย์ ฯ(๔) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรม และผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล เรากล่าวทานของผู้นั้นแลว่า มีผลไพบูลย์ ฯ(๕) ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ ทานของผู้นั้นนั่นแล เลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย ฯ 

…ทักขิณาวิภังคสูตร ที่ ๑๒ 

Q5:  เพื่อการอบรมจิตให้ดำเนินอยู่บนเส้นทางที่ถูก ขอถามว่า มรรคสมังคี เมื่อเกิดขึ้นมีลักษณะใดปรากฏให้รับรู้ได้บ้าง 

กิจที่เราจะต้องทำ คือ “อริยมรรคมีองค์ 8” ทำให้มันเจริญ ทำให้เป็นบริกรรม ทำให้มันเข้ากันจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นั่นคือ การพัฒนา (ภาวิตา/ภาวนา) นั่นเอง จากที่มันไม่มีทำให้มันมี จากที่มันยังไม่ดี ทำให้มันดี จากที่ดีมีอยู่ ทำให้ดียิ่งขึ้นไป ซึ่งจุดที่เป็น “มรรคสมังคี” คือตรงจุดที่มันปล่อยวางได้หมด มัเข้ากันหมดแล้วมันก็ดับหมด นี้คือนิพพาน เอานิพพานนี้เป็นที่สุดจบ เอาหมายกำหนดเสร็จงานตรงที่หมดกิเลสแล้ว  

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: เข้าใจทำ (ธรรม) S07E59 , S08E07 , คลังพระสูตร S09E01 , #ความหมายของจิต , #มรรคสมังคี , #กระทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์  


Timeline
[04:29] เพื่อความเข้าใจและความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง ไม่หลงเอาตัวเราไปเป็นผู้รู้ จึงต้องการทราบคำอธิบายอย่างละเอียดว่า จิตกับใจต่างกันอย่างไร
[21:27] นิพพานคืออะไร
[25:11] คำอธิบายอย่างละเอียดของคำว่า สติ สัมปชัญญะ สมาธิ ปัญญา และการประคองสติ
[45:35] ปกติผู้ถามไม่ค่อยได้ไปวัด แต่จะทำบุญโดยการโอนบริจาคทุกวัน​ ในช่วงทำบุญกฐิน​ตนเองตั้งใจจะทำบุญกฐิน​ แต่โอนผิด​ไปทำบุญอีกบัญชีหนึ่งของวัด​ อย่างนี้เราจะได้บุญกฐินตามที่เราตั้งใจไว้หรือไม่
[49:34] ผู้ถามมีคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นในใจมานานมาก นานพร้อมกันการได้ยินเรื่องมรรคมีองค์แปดครั้งแรก ตอนนั้นคิดว่าเดี๋ยวเจริญมรรคไปเรื่อยๆคำตอบก็คงจะปรากฏขึ้นมาเอง ถึงตอนนี้จึงขออนุญาตถามคำถามดีกว่าจะได้เป็นความรู้ไว้ก่อน เพื่ออบรมจิตให้ดำเนินอยู่บนเส้นทางที่ถูก คำถามคือ มรรคสมังคี เมื่อเกิดขึ้นมีลักษณะใดปรากฏให้รับรู้ได้บ้าง เพราะยังไม่เคยได้ยินใครบรรยายถึงเรื่องนี้ให้เข้าใจได้