ประวัติความเป็นมาและบุพกรรมในชาติก่อน การบรรลุธรรม ความเป็นเอตทัคคะ และต้นบัญญัติสิกขาบท (ถ้ามี) ของ อุคคคฤหบดี อุคคตคฤหบดี สูรอัมพัฏฐะ ชีวกโกมารภัจจ์ และนกุลบิดาคฤหบดี (พระไตรปิฎกเล่มที่ 20 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 12: อังคุตตรนิกาย เอกกนิบาต เอตทัคควรรค ข้อที่ 253-257)
อุคคคฤหบดี ชาวกรุงเวสาลี เอตทัคคะในฝ่ายผู้ให้ของเจริญจิต
อุคคะ เกิดในตระกูลเศรษฐีในเมืองเวสาลี ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาและเพียงการเข้าเฝ้าในครั้งแรกเท่านั้น เท่านั้นก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมะที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา 8 ประการ
ด้วยความที่ท่านเป็นผู้ที่ถวายสิ่งของที่พอใจ พระพุทธเจ้าจึงตรัสพระคาถาอนุโมทนาทานนี้ว่า
“ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ให้ของที่ดี ย่อมได้ของที่ดี และผู้ให้ของที่ประเสริฐ ย่อมเข้าถึงสถานที่ประเสริฐ นรชนใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี และให้ของที่ประเสริฐ นรชนนั้นจะบังเกิด ณ ที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ”
อุคคตคฤหบดี ชาวหัตถีคาม เอตทัคคะในฝ่ายผู้อุปัฏฐากภิกษุสงฆ์
อุคคตะ เกิดในตระกูลเศรษฐี หมู่บ้านหัตถิคาม ได้เห็นพระพุทธเจ้าครั้งแรกพร้อมด้วยอาการอันมึนเมาสุรา จึงเกิดหิริโอตตัปปะ ความมึนเมาหายไปทันที รวบรวมสติแล้วเข้าไปเฝ้าฯ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรด ก็บรรลุเป็นพระอนาคามี ท่านเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมะที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา 8 ประการ คล้าย ๆ กันกับ อุคคคฤหบดี ชาวกรุงเวสาลี และยังเป็นผู้ขวนขวายถวายไทยธรรมนภิกษุไม่ว่าจะเป็นผู้มีศีลหรือทุศีลด้วยจิตประกอบด้วยศรัทธาเสมอ ๆ กัน
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ไม่น่าอัศจรรย์ที่เมื่อกระผมนิมนต์สงฆ์แล้วเทวดา ทั้งหลายเข้ามาบอกว่า ดูกรคฤหบดี ภิกษุรูปโน้นเป็นอุภโตภาควิมุต รูปโน้น เป็นปัญญาวิมุต รูปโน้นเป็นกายสักขี รูปโน้นเป็นทิฏฐิปัตตะ รูปโน้นเป็นสัทธา วิมุต รูปโน้นเป็นธัมมานุสารี รูปโน้นเป็นสัทธานุสารี รูปโน้นเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม รูปโน้นเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมอังคาส สงฆ์อยู่ก็ไม่รู้สึกว่า ยังจิตให้เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า จะถวายแก่ท่านรูปนี้น้อย หรือ จะถวายแก่ท่านรูปนี้มาก แท้ที่จริง กระผมมีจิตเสมอกัน นี้แลเป็นธรรมที่น่า อัศจรรย์อันไม่เคยมีมาข้อที่ ๖ ของกระผมที่มีอยู่ ฯ”
สูรอัมพัฏฐะ เอตทัคคะในฝ่ายผู้มีศรัทธาไม่หวั่นไหว
ปุรพันธะ หรือ สูรอัมพัฏฐะ เกิดในบังเกิดในสกุลเศรษฐี ต่อมาเมื่อเจริญวัย ดำรงอยู่ในฆราวาสวิสัย ได้มีความเลื่อมใสและเป็นอุปัฏฐากของเหล่าอัญญเดียรถีย์ เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ที่เภสกลาวัน เมื่อปุรพันธะได้เห็นพระพระพุทธองค์ จึงคิดว่าพระสมณโคดมทรงอุบัติในสกุลใหญ่และเป็นผู้อันมหาชนรู้จักกันอย่างดีในโลก ด้วยเหตุนั้นการไม่ไปสำนักของพระองค์นั้นไม่สมควร จึงได้ไปเข้าเฝ้าฯ พระพุทเจ้าทรงแสดงธรรมตามอำนาจจริยาของเขา จนดำรงอยู่โสดาปัตติผล ได้ทรงฝึกเขาแล้ว ก็เสด็จไปพระเชตวันวิหาร
สูรอัมพัฏฐอุบาสกผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดา ให้เป็นยอดของอุบาสกทั้งหลายผู้เลื่อมใสไม่หวั่นไหว แม้เมื่อมารแปลงกายมาเป็นพระพุทธองค์ เพื่อกระทำให้ความศรัทธาที่มีต่อพระผู้มีพระภาคนั้นสั่นคลอนไป แต่ท่านก็มิได้หวั่นไหว ในการกระทำของมารนั้น
“มารตั้ง ๑๐๐ ตั้ง ๑,๐๐๐ ก็มาทำศรัทธาของเราให้หวั่นไหว ไม่ได้ดอก พระทศพลมหาโคดม เมื่อทรงแสดงธรรมแก่เรา ก็ทรง แสดงธรรมปลุกให้ตื่นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ท่านอย่ายืนใกล้ประตูเรือนของเรานะ”
ชีวกโกมารภัจจ์ เเอตทัคคะในฝ่ายผู้เลื่อมใสในบุคคล
หมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นลูกชายของหญิงโสเภณี ถูกนำไปวางทิ้งไว้ที่กองขยะ อภัยราชกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสารได้เก็บเอามาเลี้ยงดูแลเป็นบุตรของตน เมื่อเจริญเติบโตเข้าสู่วัยเรียน ได้ทราบว่าตนเป็นเด็กกำพร้า จึงได้หนีออกจากวังเดินทางไปกับกองเกวียนพ่อค้า จนถึงเมืองตักสิลา ได้เรียนวิชาการแพทย์จากอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ด้วยความที่ท่านเป็นศิษย์ที่มีอัธยาศัยดี มีความเคารพนับถือเชื่อฟังอยู่ในโอวาทของอาจารย์ มีความกตัญญูกตเวที มีศีลธรรม และอัธยาศัยความสุขุมละเอียดเยือกเย็น สุภาพเรียบร้อย มีเชาว์ปัญญาดีเยี่ยม ทำให้เป็นที่รักของอาจารย์ จึงได้รับวิชาการแพทย์พิเศษ
หมอชีวกฯ ได้ทำการรักษาโรครายสำคัญหลายครั้ง จนได้ถวายการรักษาแด่พระพุทธเจ้าในคราวที่พระบาทห้อพระโลหิต เนื่องจากเศษหินจากก้อนศิลาที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาจากภูเขา เพื่อหมายปลงพระชนม์ชีพ จึงได้เป็นแพทย์ประจำพระพุทธองค์ และได้ถวายสวนมะม่วงสร้างเป็นวัดถวาย เรียกกันว่า “ชีวกัมพวัน”
ด้วยความเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลพระสงฆ์มาก จึงเป็นเหตุให้มีคนมาบวชเพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษาตัวจำนวนมาก จนหมอชีวกต้องทูลเสนอพระพุทธเจ้าให้ทรงบัญญัติ ข้อห้ามมิให้รับบวชคนเจ็บป่วย ด้วยโรคบางชนิดอีกด้วย
นกุลบิดาคฤหบดี เอตทัคคะในฝ่ายผู้มีความคุ้นเคยในพระพุทธเจ้า
นกุลบิดาคฤหบดี เกิดในตระกูลเศรษฐีในเมืองสุงสุมารคิรี แคว้นภัคคะ เมื่อเจริญวัยแล้วบิดามารดาได้จัดหาคู่ครองผู้มีฐานะเสมอกันให้ ได้อยู่ครองเรือนตามฆราวาสวิสัย ครั้งหนึ่งนกุลเศรษฐีและภริยาพร้อมด้วยเหล่าชาวเมืองสุงสุมารคิรีได้พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เสร็จมา ทันทีที่ได้เห็นพระพุทธองค์ก็เกิดความรัก จึงได้กล่าวตู่ว่าพระพุทธองค์เป็นลูกของตน พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ตรัสห้าม แต่ทรงเมตตามรอโอกาสเมื่อพวกเขากลับมีสติ วางใจเป็นกลางได้แล้ว จึงทรงแสดงธรรมตามสมควรแก่อัธยาศัย ยังบุคคลทั้งสองให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วทรงยกเรื่องในอดีตชาติ มาประกาศในท่ามกลางพุทธบริษัท
“ในอดีตชาติ เศรษฐีสองสามีภรรยานี้เคยเป็นบิดามารดาของตถาคต ๕๐๐ ชาติ เคยเป็นปู่ เป็นย่า ๕๐๐ ชาติ เคยเป็นลุง เป็นป้า ๕๐๐ ชาติ เคยเป็นอาเป็นน้า ๕๐๐ ชาติ ดังนั้นเพราะความรักความผูกพันที่ติดตามมาตลอดช้านานนี้พอได้เห็นตถาคตจึงสุดที่จะอดกลั้นความรักนั้นไว้ได้”
แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists:คลังพระสูตร S09E02
Timeline
[04:08] อุคคคฤหบดีและอุคคตคฤหบดี
[07:10] ธรรม 8 ประการ
[13:13] อุคคคฤหบดีฟังธรรม
[17:30] เรื่องราวของสูรอัมพัฏฐะ
[21:15] มารแปลงร่างเป็นพระพุทธเจ้า
[26:40] เรื่องราวของหมอชีวกโกมารภัจจ์
[33:45] ศึกษาวิชาแพทย์จากอาจารย์ทิศาปาโมกข์
[38:30] การรักษาผู้ป่วยคนแรก
[47:00] การรักษาพระเจ้าจัณฑปโชติ
[51:50] ถ่ายโทษพระพุทธเจ้าด้วยยาดม
[55:45] เรื่องราวของนกุลคฤหบดี