พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ใน “ขตสูตร” เปรียบเทียบในสองนัยยะ ถึงคุณสมบัติและการประกอบด้วยธรรมของบุคคล 2 กลุ่มไว้ในเรื่องของการสรรเสริญ การติเตียน และความเลื่อมใส และว่าด้วยเรื่องการประพฤติปฏิบัติต่อบุคคล 4 ซึ่งเป็นผู้มีอุปการะต่อเรา 

โดยกลุ่มหนึ่งเป็นคนพาล ไม่ฉลาดเฉียบแหลม ไม่รู้จักคุ้มครองรักษาตน หาโทษใส่ตัว มีบาปกรรม ถูกเขาติเติยนได้ จึงเป็นบุคคลผู้หาโทษ และประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก 

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นบัณฑิต ฉลาดเฉียบแหลม รู้จักคุ้มครองรักษาตน สร้างบุญ ทำประโยชน์ ทำสิ่งที่ไม่เกิดโทษแก่ตน จึงเป็นบุคคลผู้หาโทษมิได้ และประสบสิ่งที่เป็นบุญเป็นอันมาก  

ให้รู้จักสรรเสริญ รู้จักเสื่อมใส รู้จักที่จะเข้าไปปรนนิบัติดูแลถ้าเป็นมารดาบิดา รู้จักฟังคำสอน ปฏิบัติตามคำสอน ถวายอามิสทาน อุปัฏฐากอุปถัมภ์ในเหล่าสาวกของพระพุทธเจ้า หรือในพระพุทธเจ้าก็ตาม แค่ว่าเรายกประคองอัญชลี (ยกมือขึ้นไหว้) ก็ชื่อว่าในเรือนนั้นมี อัญชลีกรณียบุคคล ให้ทานด้วยก็ชื่อว่า ทักขิเณยบุคคล 

ขตสูตรที่ 1 กล่าวถึง บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม 4 ประการ เป็นคนพาล ไม่เฉียบแหลม ไม่ใช่สัตบุรุษ ย่อมคุ้มครองตนที่ปราศจากคุณสมบัติ ย่อมเป็นผู้ประกอบไปด้วยโทษ นักปราชญ์ติเตียน และย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก คือ  ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบแล้ว กล่าวสรรเสริญคุณของผู้ไม่ควรสรรเสริญ  ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบแล้ว กล่าวติเตียนผู้ที่ควรสรรเสริญไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบแล้ว ยังความเลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส  ไม่ใคร่ครวญสืบสวน ให้รอบคอบแล้ว ยังความไม่เลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ควรเลื่อมใส   

ในทางกลับกัน เมื่อบุคคลใคร่ครวญสืบสวนรอบคอบแล้วประกอบด้วยธรรม 4 ประการ เป็นบัณฑิตเฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ย่อมคุ้มครองตนให้ประกอบไปด้วยคุณสมบัติ เป็นผู้หาโทษมิได้ ทั้งนักปราชญ์ไม่ติเตียน และย่อมประสบบุญเป็นอันมาก    

“ผู้ใด ย่อมสรรเสริญผู้ที่ควรนินทา หรือย่อมนินทาผู้ที่ควรสรรเสริญ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมค้นหาโทษด้วยปาก ย่อมไม่ได้ประสบสุขเพราะโทษนั้น ความพ่ายแพ้การพนันด้วยทรัพย์ทั้งหมด พร้อมด้วยตน มีโทษน้อย การที่ยังใจให้ประทุษร้ายในท่านผู้ดำเนินไปดีแล้วนี้แหละ เป็นโทษใหญ่กว่า (โทษการพนัน) ผู้ที่ตั้งวาจา และใจอันเป็นบาปไว้ติเตียนพระอริยเจ้า ย่อมเข้าถึงนรกสิ้นแสนสามสิบหกนิรัพพุททะ และห้าอัพพุททะ ฯ”…ขตสูตรที่ ๑    

ขตสูตรที่ 2 กล่าวถึงบุคคลผู้ปฏิบัติชอบในบุคคล 4 เหล่านี้ คือ มารดา, บิดา, พระพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นบัณฑิตฉลาด เป็นสัตบุรุษ ย่อมบริหารตนไม่ให้เสื่อมเสีย เป็นผู้ไม่มีโทษ ทั้งนักปราชญ์ก็สรรเสริญ และย่อมประสบบุญเป็นอันมาก 

ในทางกลับกัน หากบุคคลปฏิบัติผิดในบุคคลเหล่านี้ เป็นคนพาล ไม่ฉลาด ไม่ใช่สัตบุรุษ ย่อมบริหารตนให้ปราศจากคุณสมบัติ เป็นผู้ประกอบด้วยโทษ ทั้งนักปราชญ์ติเตียน และย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก 

“นรชนใด ปฏิบัติผิดในมารดา บิดา พระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือในสาวกของพระตถาคต นรชนเช่นนั้น ย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก บัณฑิตทั้งหลายย่อมติเตียนนรชนนั้น ในโลกนี้ทีเดียว เพราะเหตุที่ไม่ประพฤติธรรม ในมารดาบิดา และเขาละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไปสู่อบาย ส่วนนรชนใดปฏิบัติชอบในมารดาบิดา ในพระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือในสาวกของพระตถาคต นรชนเช่นนั้น ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญนรชนนั้นในโลกนี้ทีเดียว เพราะเหตุที่ประพฤติธรรมในมารดาบิดา และเขาละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิง ในสวรรค์ ฯ”…ขตสูตรที่ ๒  

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: สมการชีวิต Ep.25


อ่าน “ขตสูตรที่ ๑” พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑  พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

อ่าน “ขตสูตรที่ ๒” พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑  พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

ฟัง “แยกแยะจริงปลอมด้วยสัจจะความจริง” ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2562

ฟัง “ทิศทั้งหก” ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561


Timeline
[00:45] เริ่มปฏิบัติ: ฝึกสมาธิ ด้วยการกำหนดรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เพื่อให้เกิดปัญญาในการชำแรกกิเลสได้
[16:44] ใต้ร่มโพธิบท: เปรียบเทียบคุณสมบัติของ พาล (คนโง่) กับ บัณฑิต (คนฉลาด) ที่ประกอบด้วยธรรม 4 ประการ อันหาโทษและมิใช่โทษแก่ตน และการประสบสิ่งที่เป็นบุญและมิใช่บุญเป็นอันมาก
[19:18] พระสูตรแม่บท”ขตสูตร” ในจตุกกนิบาต (หมวด หัวข้อธรรม 4 ข้อ)
[27:13] อธิบายเนื้อหา ขตสูตรที่ 1 | ว่าด้วยเรื่องการสรรเสริญ การติเตียนและความเลื่อมใส
[43:13] อธิบายเนื้อหา ขตสูตรที่ 2| ว่าด้วยเรื่องการประพฤติปฏิบัติต่อบุคคล 4
[54:37] สรุป ต้องรู้จักสรรเสริญ ต้องรู้จักเสื่อมใส รู้จักที่จะเข้าไปปรนนิบัติดูแลถ้าเป็นมารดาบิดา รู้จักฟังคำสอน ปฏิบัติตามคำสอน ถวายอามิสทาน อุปัฏฐากอุปถัมภ์ในเหล่าสาวกของพระพุทธเจ้า หรือในพระพุทธเจ้าก็ตาม แค่ว่าเรายกประคองอัญชลี (ยกมือขึ้นไหว้) ก็ชื่อว่าในเรือนนั้นมี อัญชลีกรณียบุคคล ให้ทานด้วยก็ชื่อว่าทักขิเณยบุคคล