พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ใน โพธิราชกุมารสูตร (บางส่วน) มีใจความอย่างนี้ว่า “…ก็ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ธรรมะที่เราบรรลุแล้วนี้เป็นธรรมะอันลึก สัตว์อื่นเห็นได้ยาก ยากที่สัตว์อื่นจะรู้ตาม, เป็นธรรมะระงับและประณีต ไม่เป็นวิสัยที่จะหยั่งลงง่าย ๆ ด้วยความตริตรึก เป็นของละเอียด เป็นวิสัยรู้ได้เฉพาะบัณฑิต, ก็หมู่สัตว์ยุคนี้มีอาลัยเป็นที่ยินดี ยินดีเพลิดเพลินแล้วในอาลัย ก็สำหรับหมู่สัตว์ผู้มีอาลัย คือ ความยึดถือ เป็นที่ยินดี ยินดีเพลิดเพลินในอาลัยนั้น, ยากนักที่จะเห็นปฏิจจสมุปบาทคือ ความที่ธรรมอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น, ยากนักที่จะเห็นธรรมะอันเป็นที่สงบระงับในสังขารทั้งปวง, เป็นธรรมะอันถอนความยึดถือทั้งสิ้น เป็นความสิ้นตัณหา เป็นความคลายกำหนัด เป็นความดับ เป็นความเย็น คือ นิพพาน. หากเราแสดงธรรมแล้วสัตว์อื่นไม่พึงรู้ทั่วถึง ข้อนั้นจักเป็นความเหนื่อยเปล่าแก่เรา, เป็นความลำบากแก่เรา.” 

ที่ปรารภเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพื่อให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้ตระหนักรู้ว่า ถ้าเมื่อฟังธรรมแล้วปฏิติธรรมแล้วมันไม่คืบหน้าเลย ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป และกลับรู้สึกท้อแท้ท้อถอย หมดกำลังใจ นี้คือทำไม่ถูก ให้เราเริ่มทำความเข้าใจในประเด็นนี้ใหม่ ด้วยการปรุงแต่งระลึกนึกถึงเอาใจจดจ่อไว้ อยู่กับคำว่า “พุทโธ”  

…ความไม่ลึกซึ้ง ความไม่แยบคายของเรา จะทำให้พระพุทธเจ้าเหนื่อยเปล่า มีความลำบาก ซึ่งแม้แต่สมาธิในสมาธิขั้นธรรมดา ๆ  คนที่ไม่มีความลึกซึ้ง ไม่มีความแยบคาย มันก็ทำไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องทำความลึกซึ้งแยบคายในการปฏิบัติให้ลึกลงไปในรายละเอียดอย่างที่ชาวนาทำกิจที่ควรทำ 

สิ่งที่จะทำให้จิตอยู่ได้คือปฏิปทาคือมรรค มีศีลเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ทำในศีลให้ยิ่งขึ้น ทำในสมาธิ ในปัญญาให้ยิ่งขึ้น มันจะมีวันเวลาที่เหมาะสม ความยึดถือจะลดลง ๆ เบาบางลง ๆ เหมือนความสึกของด้ามเครื่องมือของนายช่างไม้ 

เมื่อจิตใจที่ตั้งไว้อยู่อย่างถูกต้องแล้ว จะทำให้เรามีความก้าวหน้ามีความลึกซึ้งมีความแยบคายในการปฏิบัติได้ คือ  ให้มีการตรวจสอบในเรื่องเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง (อุปมาเปรียบด้วยการทำน้ำมัน, นมสด , เนยข้น และไฟ) มีการปรับแก้ในเรื่องของอินทรีย์  5 ว่า ถ้าอ่อน ก็ต้องมีการปรับจูนให้แก่กล้าขึ้นมา จึงจะสามารถเห็นปฏิจจสมุปบาท (ธรรมะที่อาศัยกันและกันแล้วจึงเกิดขึ้น) ได้ 

“..ตัณหาเราละ เหตุปัจจัยเราสร้าง มรรคเราทำให้ดี เข้าใจ 3 อย่างนี้ ทำให้ถูกต้องดีแล้ว นิโรธจะแจ้งขึ้นมาได้” 

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: เข้าใจทำ (ธรรม) Ep.46 


อ่าน “โพธิราชกุมารสูตร” พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

ฟัง “โพธิราชกุมารสูตร (บางส่วน)” ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2561

ฟัง “มีพุทโธแล้ววิปัสสนาไม่มัวเมา” ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ฟัง “พุทโธ พุทโธ พุทโธ” ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2561


Timeline
[00:01] อย่าทำให้พระพุทธเจ้าเป็นผู้ลำบาก
[04:49] เข้าใจทำด้วยการตั้งสติไว้ที่พุทโธ
[08:22] การรับรู้ไม่ใช่การระลึกรู้
[12:06] การปรุงแต่ง “พุทโธ” เป็นมรรค
[19:16] การปล่อยวางแบบวัวควายแบบโลกสวยคือการไม่ลึกซึ้งไม่แยบคาย
[25:17] สติมีกำลังตามกระบวนการของพุทธานุสสติ
[39:59] อย่าบ่นแต่ให้พัฒนาอินทรีย์ แล้วจึงจะเห็นปฏิจจสมุปบาท
[45:00] ให้ฉลาด ดูเหตุปัจจัยให้ดี เอาอะไรมาโม่จึงได้น้ำมัน รีดนมที่ไหนจึงจะได้น้ำนม แม่ไก่กกไข่