ขุดเพชรจากพระไตรปิฎก พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี พระเขมาเถรี และพระอุบลวรรณาเถรี (พระไตรปิฎกเล่มที่ 20 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 12: อังคุตตรนิกาย เอกกนิบาต เอตทัคควรรค ข้อที่ 235-237)ประวัติความเป็นมาและบุพกรรมในชาติก่อน การบรรลุธรรม ความเป็นเอตทัคคะ และต้นบัญญัติสิกขาบท ของพระภิกษุณี 3 รูป  

พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้รัตตัญญู 

พระนางปชาบดีโคตมี เป็นพระนางน้าและเป็นพระมารดาเลี้ยงของเจ้าชายสิทธัตถะ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ และได้เสด็จกลับมาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์  พระนางมีเลื่อมใสศรัทธาในธรรมะของพระพุทธเจ้า มีพระปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะศึกษาธรรมะในสำนักของพระพุทธเจ้า หลังจากพระเจ้าสุทโธทนะเสด็จสวรรคตและเหล่าเจ้าศากยะทั้งหลายออกบวชแล้ว เมื่อทราบว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองเวสาลี พระนางได้ปลงพระเกศาแล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์ นำพาศากิยนารีเป็นบริวารประมาณ 500 (สตรีเหล่านี้สวามีออกบวชไปก่อนแล้ว) เพื่อกราบทูลอ้อนวอนขอบวชแต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต 

พระอานนท์จึงช่วยทูลขออนุญาตให้ โดยตรัสถามพระพุทธองค์ว่า “สตรีสามารถบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกับผู้ชายหรือไม่?” พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ได้”,  ถ้าเช่นนั้นควรจะอนุญาตเพื่ออนุเคราะห์แก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้มีคุณบำรุงเลี้ยงดูพระองค์มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ให้สมปรารถนาด้วยเถิด  จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้สตรีบวชได้ แต่ต้องรับปฏิบัติด้วยครุธรรม 8 ประการ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับภิกษุณี อันเป็นเงื่อนไขที่ทรงอนุญาตให้สตรีอุปสมบทได้  

พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี เป็นภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา ได้ปฏิบัติตามคำสอนจนกระทั่งบรรลุอรหัตตผล พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า พระเถรีเป็นผู้มีวัยวุฒิสูง คือรู้กาลนาน มีประสบการณ์มาก รู้เหตุการณ์ต่าง ๆ มาตั้งแต่ต้น จึงทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่ายผู้รัตตัญญู (ผู้รู้ราตรีนาน) 

“ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้า ผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง หม่อมฉันขอนอบน้อมแด่พระองค์ผู้ทรงช่วยปลดเปลื้องหม่อมฉันและชนอื่นเป็นอันมากให้พ้นจากทุกข์ หม่อมฉันกำหนดรู้ทุกข์ทั้งปวงแล้ว เผาตัณหาอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ให้เหือดแห้งแล้ว ได้เจริญมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 ได้บรรลุนิโรธแล้ว ชนทั้งหลายเป็นมารดา เป็นบุตร เป็นธิดา เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นปู่ย่าตายายกันมาในชาติก่อน ๆ หม่อมฉันไม่รู้ตามความเป็นจริง ไม่พบที่พึ่ง จึงท่องเที่ยวไป ก็หม่อมฉันได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแล้ว อัตภาพนี้เป็นอัตภาพสุดท้ายชาติสงสารสิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่มิได้มี 

ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรพระสาวกทั้งหลาย ผู้ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวมีความบากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์ มีความพร้อมเพรียงกัน การทำโลกุตรธรรมให้ประจักษ์แก่ตนอย่างนี้ เป็นการถวายบังคมต่อพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระนางเจ้ามหามายาเทวีได้ประสูติพระโคดมมา เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมากหนอ เพราะพระองค์ได้ ทรงบรรเทากองทุกข์ของชนทั้งหลายผู้ถูกพยาธิและมรณะทิ่มแทงแล้ว”…มหาปชาบดีโคตมีเถรีคาถา (สุภาษิตสรรเสริญพระพุทธองค์) 

พระเขมาเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้มีปัญญามาก 

พระนางเขมา เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารแห่งเมืองราชคฤห์ พระนางเป็นสตรีที่มีรูปงามมาก ด้วยมีผิวพรรณดังสีน้ำทอง จึงได้ชื่อว่าเขมา แปลว่า ทอง พระเจ้าพิมพิสารมีความคิดว่าตนเป็นอัครอุปัฏฐากของพุทธเจ้า แต่พระอัครมเหสียังไม่เคยเข้าเฝ้าพระศาสดาเลย เนื่องจากพระนางหลงเมามัวในรูปสมบัติของตน จึงไม่ยอมมาฟังธรรม พระเจ้าพิมพิสารจึงคิดอุบายให้มีผู้ขับร้องพรรณนาความงามของวัดเวฬุวัน ทำให้พระอัครมเหสีอยากไปเห็น  เมื่อพระนางได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ทำให้พระนางเห็นภาพนิมิตซึ่งแสดงความไม่เที่ยงของสังขาร กับทั้งพระนางได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่องราคะและการกำจัดราคะ พระนางก็บรรลุอรหัตตผล ณ ที่นั้น เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบความ ทรงอนุญาตให้พระนางออกบวชเป็นภิกษุณีได้  

เมื่อพระนางบวชแล้วได้นามว่า “พระเขมาเถรี” เพราะอาศัยเหตุที่พระนางมีปัญญามาก บรรลุพระอรหันต์ทั้ง ๆ ที่อยู่ในเพศฆราวาส พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่ายผู้มีปัญญามาก และทรงแต่งตั้งให้เป็นอัครสาวิกาฝ่ายขวา 

“บุคคลเมื่อจะบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยรูปใด รูปนั้นอันพระตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้ไม่มีที่ตั้ง ดุจตาลยอดด้วน กระทำไม่ให้มีไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา ดูกรมหาบพิตร พระตถาคตพ้นจากการบัญญัติว่าเป็นรูป เป็นของลึก ประมาณไม่ได้หยั่งถึงได้โดยยาก ดุจมหาสมุทรฉะนั้น คำว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็ดี ย่อมไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดและไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมไม่ควร เมื่อบุคคลบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยเวทนาใด … เมื่อบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยสัญญาใด … เมื่อบุคคลบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยสังขารเหล่าใด … เมื่อบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยวิญญาณใด วิญญาณนั้นอันพระตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้ไม่มีที่ตั้ง ดุจตาลยอดด้วนกระทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา ดูกรมหาบพิตร พระตถาคตพ้นแล้วจากการบัญญัติว่าเป็นวิญญาณ เป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก ดุจมหาสมุทรฉะนั้น คำว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดก็ดี ย่อมไม่เกิดก็ดี ย่อมเกิดอีกและไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ก็ย่อมไม่ควร ฯ”…พระเขมาเถรีแสดงธรรมแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ณ โตรณวัตถุ ที่ระหว่างเมืองสาวัตถีกับเมืองสาเกต และพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้มาสอบทวนกับพระพุทธเจ้าด้วยปัญหาที่ตรัสถามพระนางเขมาเถรีมาแล้วอีกครั้ง พระองค์ก็ได้ตรัสตอบเช่นเดียวกัน 

พระอุบลวรรณาเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้มีฤทธิ์มาก 

พระอุบลวรรณาเถรี เกิดในตระกูลเศรษฐี ในกรุงสาวัตถี ได้ชื่อว่า “อุบลวรรณา” เพราะมีผิวพรรณเหมือนกลับดอกบัว เนื่องจากนางมีความงามมากเป็นที่หมายปองของพระราชาและมหาเศรษฐี เศรษฐีผู้บิดารู้สึกลำบากใจที่จะรักษาน้ำใจของคนทั้งหมดไว้ จึงคิดอุบายให้ธิดาบวช พอบวชได้ไม่นาน ได้ไปทำความสะอาดพระอุโบสถ ขณะจุดประทีปได้เพ่งดูเปลวประทีปแล้วถือเอาเป็นนิมิต ได้บรรลุพระอรหัตผลในเวลานั้น 

พระอุบลวรรณาเถรี ได้รับการยกย่องให้เป็นเป็นอัครสาวิกาฝ่ายซ้ายของพระพุทธเจ้า เป็นผู้มีฤทธิ์มาก ชำนาญในการแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ เช่น วันที่พระบรมศาสดาทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ พระเถรีก็กราบทูลอาสาขอแสดงฤทธิ์เพื่อต่อสู้กับพวกเดียรถีย์แทนพระพุทธองค์ ด้วยเหตุนี้จึงได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่ายผู้มีฤทธิ์มาก 

“เรากล่าวบุคคล ผู้ไม่ติดอยู่ในกามทั้งหลาย เหมือนน้ำไม่ติดอยู่ในใบบัว เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดอยู่ที่ปลายเหล็กแหลม ว่าเป็นพราหมณ์. เนื้อความแห่งพระคาถานี้ จักแจ่มแจ้งในพราหมณวรรคนั่นแล.”  พระพุทธเจ้าทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายที่กำลังสนทนากันเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่พระอุบลวรรณาเถรีถูกนันทมาณพข่มขืน 

ด้วยเพราะเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงห้ามภิกษุณีอยู่ป่า เพราะอาจจะถูกคนพาลมาเบียดเบียนประทุษร้าย ทำอันตรายต่อพรหมจรรย์ได้ และได้ตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลขอให้สร้างที่อยู่อาศัยเพื่อนางภิกษุณีสงฆ์ในที่บริเวณใกล้ ๆ พระนคร ตั้งแต่นั้นมา และนอกจากนี้ยังเป็นที่มาของต้นบัญญัติในเรื่องห้ามภิกษุรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เหตุเกิดจากพระอุทายีแคะไค้พระเถรี ขอให้สละผ้าอันตรวาสกให้ตน 

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: คลังพระสูตร Ep.57  


[07:30] ความเป็นมาของพระนางปชาบดีโคตมี
Timeline
[09:49] ชาติสุดท้ายเกิดมาเป็นน้าของพระพุทธเจ้า
[23:46] การบวชของพระนางปชาบดีโคตมี
[27:58] การบรรลุธรรมของพระเถรี
[31:10] การปรินิพพาน
[33:49] ความเป็นมาของพระนางเขมาเถรี
[36:20] พระนางเป็นมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร
[42:30] พระนางเขมาทูลขอบวช
[44:10] พระเขมาเถรีแสดงธรรมให้พระเจ้าปเสนทิโกศลฟัง
[47:10] ความเป็นมาของพระนางอุบลวรรณาเถรี
[48:40] การบวชของพระเถรี
[50:00] การแสดงปาฏิหาริย์ของพระเถรี
[54:00] ต้นบัญญัติการห้ามภิกษุขอผ้าจากภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ