“ที่ไหนมีกาม ที่นั่นมีความวุ่นวาย ที่นั่นมีความข้องขัด” เพราะกามมันแทรกซึมไปได้ในทุกเรื่องราว ยสกุลบุตร เมื่อเห็นโทษของกามจึงเริ่มระลึกได้ ไม่เผลอเพลินตามไปในความสุขต่าง ๆ เหล่านั้น…เมื่อโทษของกามที่เกิดปรากฎขึ้น มันจึงมีทางเลือกเกิดขึ้น ซึ่งอยู่ที่ว่าเห็นโทษแบบไหน และจะเลือกทางไหน ทางวน ทางอ้อม หรือทางออก…ในเส้นทางที่ไปทั้งหมดนั้น ถ้าเผื่อว่าไม่มีสติ มันจะพลาดวนมาทางเดิมแบบเดิม เราจึงต้องมีกัลยาณมิตร ผู้ที่จะชักจูงพาไปยังทางออกที่มันจะไม่วนพากลับมาที่เดิมเรื่องเดิมอีก 

สติคือการระลึกได้ จะทำให้จากที่มันวุ่นวายมีความขัดข้อง ทำให้เราสามารถเห็นโทษของกามนี้ได้ ระลึกได้ว่ามันมีทางออกอื่นคือ มรรค 8 อยู่ โดยเริ่มที่สติ ในที่นี้ให้มาระลึกถึงพุทโธไว้ในใจ จิตจะค่อยเริ่มสงบลงได้ ระลึกได้ว่าความสงบในภายในมี ไม่ได้จะต้องไปหาจากภายนอก ความวุ่นวายความขัดข้องจะระงับไปได้ ความวุ่นวายความขัดข้องเกิดขึ้นได้เพราะปรารภเรื่องของกาม ความไม่วุ่นวายความไม่ขัดข้องจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องหลีกออกจากกาม ต้องกำจัดกิเลสกามในภายใน ไม่ใช่ที่วัตถุกามในภายนอก  

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “คนที่มีสัมมาสติแล้วจะทำสัมมาสมาธิให้เกิดขึ้น นั่นเป็นฐานะที่จะมีได้เป็นได้” สัมมาสมาธิที่เกิดขึ้นนั้น จะทำให้การปรุงแต่งทางกาย วาาจา ใจ ระงับลง ๆ จากสิ่งหยาบ ๆ (ทางกาย) ก็จะระงับลงก่อนด้วยศีล ไปตามลำดับจนถึงความนึกคิดที่ละเอียด ๆ เช่น ความคิดนึกที่เป็นไปทางกาม พยายาท เบียดเบียน คิดตำหนิคนนั้นด่าคนนี้  มันก็จะระงับลงไปด้วยสมาธิซึ่งเป็นผลของสติ  

พระพุทธเจ้าแสดง  “อนุปุพพิกถา” แก่ยสกุลบุตร ให้เห็นถึงความไม่วุ่นวาย ความไม่ขัดข้อง โดยแสดงไปตามลำดับในเรื่องของ ทาน ศีล เรื่องของสวรรค์ โทษของกาม และอานิสงส์ในการหลีกออกจากกาม อานิสงส์ของ “เนขัมมะ” จะทำให้จิตใจผ่องใส มีความชุ่มเย็น มีความร่าเริงเบิกบาน ปราศจากเครื่องเศร้าหมองต่าง ๆ แล้วให้เราพิจารณาเห็นตามความจริงว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะภายนอกหรือภายในของเรามันไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวมันเองโดยส่วนเดียวเท่านั้น แต่มันต้องเกิดขึ้นด้วยการประกอบกันอาศัยกันกับสิ่งอื่น ๆ ต่าง ๆ เพราะถ้าเหตุปัจจัยมันเปลี่ยนแปลงไป สิ่งนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ได้จะตั้งอยู่คงอยู่ได้ตลอดเวลา” 

เพ่งลงมาในกายของเรานี้ก็เหมือนกัน ไม่ได้ตั้งอยู่ด้วยตัวเองโดด ๆ  ต้องอาศัยอาหารจึงตั้งอยู่ได้ดำรงอยู่ได้ ดังนั้นความเป็นตัวของตัวเองมันจึงไม่มี มันจึงไม่ใช่ตัวของมันเองจริง ๆ ความจริงข้อนี้ให้เราสังเกตดู เราจะสังเกตเห็นความจริงในข้อนี้ได้ จิตจะต้องมีความสงบระงับบ้าง ปราศจากนิวรณ์ความเศร้าหมองต่าง ๆ  ให้มีความร่าเริงแจ่มใส ไม่ให้วุ่นวายไม่ให้ข้องขัด จิตเราดำเนินมาถึงจุดนี้แล้วให้เห็นตามความเป็นจริงว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีเหตุปัจจัยเกิด อาศัยสิ่งอื่นเกิดแล้ว ถ้ามันเป็นเงื่อนไขตามธรรมดาที่เป็นมาด้วยความที่เกิดแล้ว มันก็เป็นเงื่อนไขตามธรรมดาแบบนี้มันไป  ที่ให้มันดับไปได้ เงื่อนไขตรงนี้คือความจริง ที่ถ้าเราสังเกตไม่เห็น เราก็จะมีความชุ่มย้อมยึดถือไปในกามนั้น เรียกว่า “กามุปาทาน”  

เราจะรักษาไม่ให้เราไม่ประมาท ก็เริ่มต้นที่สติตั้งเอาไว้ ไม่เผลอเรอไม่หลงลืมไม่ประมาท กุศลธรรม การรักษาที่จะเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นที่ตรงนั้น การเห็นได้ตามความเป็นจริงก็เห็นได้ที่ตรงหูนั้น ที่ตานั้น ความจริงคือวิชชาก็ปรากฎขึ้นได้ ณ ที่นั้น ๆ  

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: ใต้ร่มโพธิบท Ep.59 , คลังพระสูตร Ep.55 , EP.15         


ฟัง “อนัตตลักขณสูตรและอาทิตตปริยายสูตร” ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ฟัง “อาการเกิดดับแห่งอาหาร 4 อย่าง” ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ฟัง ” “กาม” เครื่องจองจำของมาร ” ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ฟัง “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง” ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559


Timeline
[01:17] เริ่มปฏิบัติ ระลึกนึกถึงพุทโธไว้ในใจ
[12:20] ยสกุลบุตรเห็นโทษในกามจึงเริ่มระลึกได้
[29:29] ทางเลือกเมื่อเห็นโทษในกาม
[34:58] คนที่มีสัมมาสติแล้วจะทำสัมมาสมาธิให้เกิดขึ้น นั่นเป็นฐานะที่จะมีได้เป็นได้สัมมาสมาธิที่เกิดขึ้นนั้น จะทำให้การปรุงแต่งทางกาย วาาจา ใจ ระงับลง ๆ จากสิ่งหยาบ ๆ (ทางกาย) ก็จะระงับลงก่อนด้วยศีล ไปตามลำดับจนถึงความนึกคิดที่ละเอียด ๆ เช่น ความคิดนึกที่เป็นไปทางกาม พยายาท เบียดเบียน คิดตำหนิคนนั้นด่าคนนี้มันก็จะระงับลงไปด้วยสมาธิซึ่งเป็นผลของสติ
[40:50] พระพุทธเจ้าแสดงธรรมแก่ยสกุลบุตร ให้เห็นถึงความไม่วุ่นวาย ความไม่ขัดข้อง โดยแสดงไปตามลำดับในเรื่องของ ทาน ศีล เรื่องของสวรรค์ โทษของกาม และอานิสงส์ในการหลีกออกจากกาม
[48:49] สรุป จิตจะต้องมีความสงบระงับบ้าง ปราศจากนิวรณ์ความเศร้าหมองต่าง ๆให้มีความร่าเริงแจ่มใส ไม่ให้วุ่นวายไม่ให้ข้องขัด จึงจะเห็นตามความเป็นจริงว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีเหตุปัจจัยเกิด อาศัยสิ่งอื่นเกิดแล้ว ถ้ามันเป็นเงื่อนไขตามธรรมดาที่เป็นมาด้วยความที่เกิดแล้ว มันก็เป็นเงื่อนไขตามธรรมดาแบบนี้มันไป ที่ให้มันดับไปได้”