อริยมรรคมีองค์แปด เป็นเครื่องมือที่ใช้สำรอก ขูดเกลา รื้อถอน กำจัดสิ่งที่เป็นเครื่องร้อยรัดจิตใจให้ผูกกับแอกของกิเลสตัณหาและความยึดถือ โดยเริ่มต้นจากศีลที่เป็นไปเพื่อสมาธิ (ไม่ใช่ศีลที่ถูกตัณหาลูบคลำ) จนเกิดเป็นปัญญาที่ใช้ชำแรกกิเลสได้หมดจด ซึ่งเป็นกระแสการบรรลุธรรมของอริยบุคคลในขั้นต่าง ๆ โดยเริ่มจากขั้นพระโสดาบันจนกระทั่งถึงพระอรหันต์ได้
Q1: อ้างอิงจากได้ฟังรายการช่วงคลังพระสูตรถึงเรื่อง “มหาเวทัลลสูตร” นั้น ตรงหัวข้อ เรื่องประโยชน์แห่งปัญญาและเหตุเกิดสัมมาทิฏฐิ ขอให้อธิบายอย่างละเอียดในขั้นตอนที่ 5 คือ วิปัสสนาอนุเคราะห์
“…อันองค์ธรรม 5 ประการอนุเคราะห์แล้วคือ สัมมาทิฏฐิ อันศีลอนุเคราะห์แล้ว, อันสุตะอนุเคราะห์แล้ว, อันสากัจฉาอนุเคราะห์แล้ว, อันสมถะอนุเคราะห์แล้ว, อันวิปัสสนาอนุเคราะห์แล้ว สัมมาทิฏฐิ มีเจโตวิมุติเป็นผลและมีผลคือเจโตวิมุติเป็นอานิสงส์ด้วย มีปัญญาวิมุติเป็นผลและมีผลคือปัญญาวิมุติเป็นอานิสงส์ด้วย อันองค์ธรรม 5 ประการนี้แลอนุเคราะห์แล้ว”
บุคคลที่จะบรรลุอรหัตตผลได้จะต้องมีเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติชนิดที่หาอาสวะไม่ได้ กล่าวคือการมีสมถะและวิปัสสนาในระดับที่พอดีกันจนอาสวะไม่สามารถตั้งอยู่ได้ “สัมมาทิฏฐิ” จึงเป็นองค์ธรรมนำหน้าของหมวดธรรมต่าง ๆ ที่จะเป็นไปเพื่อการสลัด ละตัณหา กิเลส และอวิชชาให้เบาบางลง ดังนั้นหากการคิด พูด หรือกระทำใด ๆ ที่เพิ่มพูนกิเลสให้มากขึ้นย่อมจัดเป็นมิจฉาทั้งสิ้น
Q2: เมื่อเราฝึกปฏิบัติบูชาจนจิตนิ่งในขณะเข้าสมาธิแล้ว ขั้นตอนต่อไปเราควรทำอย่างไรต่อไป เนื่องจากเมื่อจิตเข้าสมาธิลึก ๆ นั้นจะไม่มีความรู้สึก นึกคิด เสียงหรือภาพใด ๆ เลย
“สัมมาสมาธิ” ต้องตั้งไว้รักษาไว้ให้เข้ากันได้อย่างต่อเนื่อง รักษาสมดุลไว้ให้ดี เพราะถ้ามีสมถะมากไปจะเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เกิดเป็นความง่วงก็ต้องหยุด แล้วให้ไปพิจารณาเพิ่มเติมมาในส่วนที่เป็นวิปัสสนาเข้าไป และเมื่อนั่งสมาธิจนสงบนิ่งไปแล้ว ๆ มีเวทนาที่เป็นสุขเวทนาเกิดขึ้นก็อย่ายินดีพอใจตรงนั้น เพราะเรานั่งสมาธิไม่ใช่เพื่อสุขเวทนา แต่เพื่อปัญญาคือการเห็นตามความเป็นจริง จะเป็นความจริงในความนิ่งนั้นก็ได้ หรือถ้ามีเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นให้พิจารณาว่า มันมีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นได้ด้วยตัวมันเอง ความที่มันต้องอาศัยเหตุปัจจัย นี้คือ ความไม่เที่ยงในสภาวะนั้น ๆ ความที่มันไม่ใช่ตัวตนของมันเอง มันคือความที่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยอย่างอื่นเกิด เราจึงจะไปต่อได้
ดังนั้นจึงต้องหาเครื่องหมายคือนิมิตให้เจอ..นิมิตของความไม่เที่ยง ความเป็นอนัตตาคือ ความที่มันต้องอาศัยเหตุปัจจัยแล้วจึงเกิดขึ้น เราจึงต้องใช้เครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่งทำเหตุปัจจัยที่ทำจิตให้สงบลงได้ และให้พิจารณาในความละเอียด ๆ ตรงนี้ว่า “มันมีมาได้อย่างไร อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้เห็นจุดนี้, ให้เพ่งจดจ่อลงไปดูว่า ที่เห็นนั้นมันเป็นของใคร, พิจารณาแล้วจะเห็นว่า มันก็เป็นของมันอย่างนั้นตามที่มีเหตุปัจจัยของมันมา มันไม่ได้เป็นของเรา” และพอเราเข้าและออกสมาธิทำให้มากเจริญให้มากจนชำนาญ เห็นตรงนี้ได้บ่อย ๆ เข้ามาถึงจุดนี้ได้บ่อย ๆ เราจะเห็นเหตุและผลด้วยการตั้งสติไว้เพื่อให้ระลึกเห็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดดับ แล้วจะมีปัญญาเกิดขึ้นตามกระบวนการนี้และไปต่อไปได้ จนเกิดความหน่าย เริ่มคลายกำหนัด แล้วเราจะปล่อยวางได้
“ธรรมะนี้คนชั่วคนถ่อยเสพไม่ได้ และไม่ใช่จะได้ด้วยการข่มขี่ การห้าม การปรุงแต่ง แต่ได้ด้วยความสงบระงับ ได้ด้วยความประณีต มันก็จะค่อยระงับ ๆ ลงไปตามขั้นตอน”
แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: ขุดเพชรในพระไตรปิฎก Ep.28 , คลังพระสูตร Ep.53
Timeline
[01:10] แนะนำรูปแบบรายการใหม่ในแต่ละวันตลอดทั้งสัปดาห์เพื่อการนำหลักธรรมะไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน และช่องทางในการติดต่อ
[05:57] อ้างอิงจากที่พระอาจารย์มหาไพบูลย์ฯ ได้อธิบายเรื่องพระมหาเวทัลลสูตรนั้น จึงต้องการคำอธิบายอย่างละเอียดในขั้นตอนที่ 5 คือ วิปัสสนาอนุเคราะห์ “สัมมาทิฏฐิ มีเจโตวิมุติเป็นผลและมีผลคือเจโตวิมุติเป็นอานิสงส์ด้วย มีปัญญาวิมุติเป็นผลและมีผลคือปัญญาวิมุติเป็นอานิสงส์ด้วย” “อันองค์ธรรม 5 ประการอนุเคราะห์แล้วคือ สัมมาทิฏฐิ อันศีลอนุเคราะห์แล้ว 1 อันสุตะอนุเคราะห์แล้ว 1 อันสากัจฉาอนุเคราะห์แล้ว 1 อันสมถะอนุเคราะห์แล้ว 1 อันวิปัสสนาอนุเคราะห์แล้ว 1 สัมมาทิฏฐิ มีเจโตวิมุติเป็นผลและมีผลคือเจโตวิมุติเป็นอานิสงส์ด้วย มีปัญญาวิมุติเป็นผลและมีผลคือปัญญาวิมุติเป็นอานิสงส์ด้วย อันองค์ธรรม 5 ประการนี้แลอนุเคราะห์แล้ว”
[10:02] บุคคลที่จะบรรลุธรรมขั้นพระอรหันต์ได้จะต้องมีเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติชนิดที่หาอาสวะไม่ได้ กล่าวคือการมีสมถะและวิปัสสนาในระดับที่พอดีกันจนอาสวะไม่สามารถตั้งอยู่ได้
[13:15] โสดาบันคือ ทิฏฐิในเบื้องต้นที่จะทำให้เราตามกระแสของอริยมรรคมีองค์แปดเพื่อเข้าสู่ความเป็นอรหันต์ จึงเป็นสิ่งที่เราต้องละวิจิกิจฉา(หนึ่งในนิวรณ์ 5) ให้ได้ ซึ่งเกิดมาจากสมาธิที่มีพอประมาณ ที่มาจากศรัทธาที่เต็มเปี่ยมและทำให้เกิดความลงมั่น ไม่หวั่นไหว จนเป็นผลให้มีศีลที่เต็ม
[15:37] สกิทาคามีคือ การที่มีทิฏฐิในศีลละเอียดมากขึ้น มีสมาธิเต็มมากขึ้น ราคะ โทสะ และโมหะเบาบางน้อยลง ซึ่งสืบเนื่องมาจากการฟังธรรม(สุตตะ) ใคร่ครวญธรรม และการสอบถามทวนถามธรรม(สากัจฉา) ถามคำถามเกี่ยวกับความหมายในหลายนัยยะ สิ่งใดที่ทำแล้วเกิดสุขหรือทุกข์ สิ่งใดที่ทำแล้วเกิดประโยชน์หรือโทษในปัจจุบันนี้หรือในเวลาต่อๆไป
[17:02] อนาคามีคือ การที่เรามีศีลเต็มและปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ จิตใจจะน้อมไปในสมาธิได้ง่ายขึ้น เพราะความฟุ้งซ่านและความไม่สงบในใจลดลงจากการที่มีราคะ โทสะ และโมหะเบาบางน้อยลง จนทำให้มีสมถะและสมาธิเต็มในที่สุด มีปัญญาพอประมาณที่จะเห็นความไม่ใช่ตัวตนซึ่งยังไม่สามารถละได้ แต่จะสามารถละกามและพยาบาทได้
[21:13] สัมมาทิฏฐิ เป็นองค์ธรรมนำหน้าของหมวดธรรมต่างๆ เป็นไปเพื่อการสลัด ละตัณหา กิเลส และอวิชชาให้เบาบางลง ดังนั้นหากการคิด พูด หรือกระทำใดๆที่เพิ่มพูนกิเลสให้มากขึ้นย่อมจัดเป็นมิจฉาทั้งสิ้น
[28:58] เมื่อเราฝึกปฏิบัติบูชาจนจิตนิ่งในขณะเข้าสมาธิแล้ว ขั้นตอนต่อไปเราควรทำอย่างไรต่อไป เนื่องจากเมื่อจิตเข้าสมาธิลึกๆ นั้นจะไม่มีความรู้สึก นึกคิด เสียงหรือภาพใดๆ เลย
[32:28] สมาธิคือ ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว หากจะมุ่งเน้นเฉพาะสัมมาสมาธิจะต้องมีองค์ประกอบรายล้อมของมรรค 7 อย่างที่เป็นไปเพื่อการทำให้กิเลสลดลง อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ และสัมมาสติ
[35:13] ต้องรักษาสมดุลของสมถะและวิปัสสนาให้ได้ ด้วยการพิจารณาในกายหากเกิดความง่วงในการนั่งสมาธิ การไม่ยินดีทั้งสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำสมาธิ แต่ให้เห็นว่ามีการอาศัยเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น เห็นถึงความไม่เที่ยง เห็นถึงความเป็นอนัตตา
[42:04] ทำให้มาก เจริญให้มาก การฝึกซ้ำๆ ย้ำๆในการเข้าและออกสมาธิจนชำนาญ จะทำให้เรามีความก้าวหน้าในการปฏิบัติ เห็นเหตุและผล เห็นความไม่เที่ยงในสภาวะ เห็นความเป็นอนัตตา ไม่ควรถือว่าเป็นตัวเราของเรา จึงควรละวางเสีย ด้วยการตั้งสติไว้เพื่อให้ระลึกเห็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดดับ เห็นตามความเป็นจริง จึงมีความหน่าย คลายกำหนัด และปล่อยวางได้ ซึ่งจะค่อยๆทำให้เกิดปัญญาขึ้นตามกระบวนการเป็นลำดับขั้นไป