ขุดเพชรจากพระไตรปิฎก พระกาฬุทายีเถระ พระพักกุลเถระ และพระโสภิตเถระ (พระไตรปิฎกเล่มที่ 20 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 12: อังคุตตรนิกาย เอกกนิบาต เอตทัคควรรค ข้อที่ 225-227)ประวัติความเป็นมาและบุพกรรมในชาติก่อน การบรรลุธรรม และความเป็นเอตทัคคะ ของพระภิกษุ 3 รูป  

พระกาฬุทายีเถระ เอตทัคคะในทางผู้นำตระกูลให้เลื่อมใส 

ชื่อเดิมคือ อุทายี เพราะเกิดในวันที่ชาวพระนครทั้งสิ้นมีจิตเบิกบาน เนื่องจากท่านเป็นคนมีผิวพรรณค่อนข้างดำ จึงถูกเรียกว่า กาฬุทายี หรือที่รู้จักในอีกนามว่า กาฬุทายีอำมาตย์ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นสหชาติและเป็นพระสหายคนสนิทของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ 

หลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ พระเจ้าสุทโธทนะทราบข่าวการตรัสรู้จึงส่งกาฬุทายีอำมาตย์ไปทูลเชิญพระศาสดาเพื่อเสด็จกลับมากรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อกาฬุทายีอำมาตย์ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่กรุงราชคฤห์และได้ฟังพระธรรมเทศนาจนบรรลุอรหัตตผล จึงขออกบวชตาม แต่ท่านยังรำลึกอยู่เสมอว่าต้องทูลเชิญพระพุทธองค์กลับไปโปรดชาวเมืองกบิลพัสดุ์ให้ได้ในเวลาที่เหมาะสม ท่านจึงนิพนธ์คาถามากมายกว่า 60 คาถา พรรณาถึงคุณแห่งทางเสด็จในการเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติ  

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชาวเมืองกบิลพัสดุ์พร้อมกับภิกษุสาวกอีก 20,000 องค์ พระกาฬุทายีเดินทางกลับไปแจ้งข่าวแก่พระเจ้าสุทโธทนะเป็นระยะ ๆ  ทำให้เหล่าศากยะและชาวเมืองเกิดความตื่นเต้น เฝ้ารอการมาของพระพุทธเจ้าด้วยความเลื่อมใสเป็นอันมาก ด้วยเหตุนี้ พระกาฬุทายีเถระ จึงได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางผู้นำตระกูลให้เลื่อมใส 

“อาตมภาพ เป็นบุตรของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีสิ่งใดย่ำยีได้ มีพระรัศมีแผ่ซ่านจากพระกาย ไม่มีผู้เปรียบปาน ผู้คงที่ ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์เป็นพระบิดาของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบิดาแห่งอาตมภาพ ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์เป็นพระอัยกาของอาตมภาพโดยธรรม.”…กาฬุทายีเถรคาถา ภาษิตของพระกาฬุทายีเถระ 

พระพักกุลเถระ เอตทัคคะในทางผู้ไม่มีโรคาพยาธิ (ผู้มีโรคภัยไข้เจ็บน้อยที่สุด) 

พากุละ แปลว่า คนสองตระกูล ท่านเป็นบุตรเศรษฐีในเมืองโกสัมพี เมื่อเวลาที่ท่านคลอดออกมาได้ 5 วัน พี่เลี้ยงได้พาท่านไปอาบน้ำที่แม่น้ำ ขณะนั้นได้มีปลาใหญ่ตัวหนึ่งมาคาบกลืนเอาทารกเข้าไปในท้อง แต่เพราะเด็กนั้นเป็นผู้มีบุญ (ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “ปัจฉิมภวิกสัตว์” แปลว่า “ผู้เกิดในภพสุดท้าย” ถ้ายังไม่บรรลุพระอรหันต์ อย่างไรเสียก็จักยังไม่ตาย) ต่อมาปลาได้ถูกชาวประมงจับได้แล้วนำไปขายให้ตระกูลเศรษฐีในเมืองพาราณสี พอผ่าท้องปลาออกมา ก็ได้เจอทารกน้อย เลยเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม ฝ่ายบิดามารดาเก่าเมื่อได้ทราบข่าวจึงมาขอบุตรคืน แต่ทั้งสองฝ่ายก็ตกลงกันไม่ได้ พระเจ้าพาราณสีจึงทรงตัดสินให้ทั้งสองตระกูลสลับเปลี่ยนกันเลี้ยงตระกูลละ 6 เดือน ท่านใช้ชีวิตอยู่ในตระกูลทั้ง 2 อย่างมีความสุข  

ในขณะที่ท่านมีอายุ 80 ปี ได้ชื่อว่า อุภยเศรษฐีบุตร ได้ไปฟังพระธรรมเทศนาพร้อมด้วยบริวาร เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชาวเมืองพาราณสี เกืดความศรัทธาเลื่อมใสจึงขอออกบวช  และตั้งใจศึกษาปฏิบัติด้วยความไม่ประมาท มีความพากเพียรเจริญวิปัสสนากรรมฐานเพียง 7 วัน ก็ได้บรรลุพระอรหันต์  

ท่านได้มีอายุยืนยาวถึง 160 ปีคือเป็นฆราวาส 80 ปี และเป็นพระอยู่ 80 ปี เพราะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน โดยไม่ต้องฉันยารักษาโรคเลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะเคยสร้างเวจกุฎี (ห้องสุุุุขา) ถวายสงฆ์ และได้บริจาคยาให้เป็นทานนั้นเอง 

“ผู้ใดปรารถนาจะทำการงานที่ทำก่อนในภายหลัง ผู้นั้นย่อมพลาดจากฐานะอันนำมาซึ่งความสุข และย่อมเดือดร้อนในภายหลัง พึงทำอย่างใด พึงพูดอย่างนั้น ไม่พึงทำอย่างใด ไม่พึงพูดอย่างนั้น บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมกำหนดรู้ว่า บุคคลผู้ไม่ทำ มีแต่พูดนั้นมีมาก นิพพานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว เป็นสุขดีหนอ ไม่มีความโศก ปราศจากกิเลสธุลี ปลอดโปร่ง เป็นที่ดับทุกข์.”…พากุลเถรคาถา สุภาษิตสอนให้พูดจริงทำจริง 

พระโสณภิตเถระ เอตทัคคะในทางผู้ระลึกปุพเพนิวาสานุสติญาณ (ผู้ระลึกชาติได้) 

ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์ เรียนจบศิลปวิทยา ในเมืองสาวัตถี เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพราะได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้า แล้วจึงทูลขอบวช เพื่อประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ท่านมีความชำนาญในการเข้าฌานและระลึกชาติได้อย่างคล่องแคล่วมากมาย ฉะนั้นท่านจึงได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้เลิศในการระลึกปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ระลึกชาติได้) 

“เราเป็นผู้มีสติมีปัญญา ปรารภความเพียรอย่างแรงกล้า ระลึกชาติสิ้นห้าร้อยกัปเพียงราตรีเดียว เราเจริญสติปัฏฐาน 4 โพชฌงค์ 7 มรรคมีองค์ 8 จึงระลึกชาติตลอดเวลา 500 กัปเพียงราตรีเดียว”…โสภิตเถรคาถา สุภาษิตชี้ผลการปฏิบัติธรรม


Timeline
[06:44] ลักษณะที่ตั้งความปรารถนาหรือความเพียรที่จะบรรลุธรรมให้ได้
[17:10] สหชาติเป็นสิ่งที่เกิดมาพร้อมกับการเกิดของพระพุทธเจ้า 7 อย่าง
[26:40] เวลาที่เหมาะสมที่จะกราบทูลเชิญพระพุทธเจ้ากลับกรุงกบิลพัสดุ์
[35:46] พระพักกุละ ได้พบพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ก่อนที่จะมาบรรลุในชาตินี้
[45:30] พระพักกุละมีอายุ 80 ปีในความเป็นฆราวาส 80 ปี ในความเป็นพระ
[53:00] พระโสภิตะเป็นภิกษุที่มีความเป็นเลิศในการระลึกชาติได้