ทำความเข้าใจวิธีการปฏิบัติแบบ “อานาปานสติ” อย่างละเอียด
คำถาม 1: ผู้ถามมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการนั่งสมาธิอานาปานสติ โดยเพิ่งเริ่มฝึกนั่งสมาธิมาได้ไม่นาน ทุกครั้งเวลาอ่านบทความต่างๆ ก็จะได้เห็นหลายๆ ครั้งว่า “ให้ฝึกดูลมหายใจตนเอง เข้าออก สั้นยาวเท่าไหน” แต่เวลาพยายามจะทำแบบนั้น กลายเป็นว่าแค่นึกถึงคำว่าลมหายใจ ผู้ถามก็จะไปควบคุมบังคับวิธีการหายใจของตนเอง ทำให้เวลานั่งสมาธิจะรู้สึกเหนื่อย หนักอก และต้องสูดหายใจเข้าลึกหลายๆ ครั้ง เหมือนร่างกายขาดออกซิเจน จึงต้องการคำชี้แนะในข้อนี้
คำตอบ 1: สามารถอ้างอิงจากตัวแม่บทซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า “เข้าสู่เสนาสนะอันสงัด นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ระลึกถึงลมหายใจเข้า ระลึกถึงลมหายใจออก” โดยสามารถแจกแจงรายละเอียดได้ดังนี้
เข้าสู่เสนาสนะอันสงัด หมายถึง สถานที่ที่ไม่มีคนพลุกพล่าน ไม่มีกิจกรรมเกิดขึ้นมากมาย ไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครม และไม่มีลมที่เกิดจากคนเข้าออกเยอะแยะ เช่น ห้องพระ ห้องนอน ศาลาวัด กุฏิที่พัก ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ถึงโคนไม้ เรือนว่าง รอมฟาง ที่โล่งแจ้ง เงื้อมผา ริมลำธาร เป็นต้น
นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ หมายถึง การนั่งขัดสมาธิหรือนั่งพับเพียบ เพื่อให้มีฐานที่มั่นคง ซึ่งการนั่งสมาธิแบ่งเป็น 4 แบบ ดังนี้
นั่งขัดสมาธิธรรมดา โดยการนั่งให้เข่าขวาทับเท้าซ้ายที่เรียกว่า “ขวาทับซ้าย”
นั่งขัดสมาธิธรรมดา โดยการนั่งให้เข่าซ้ายทับเท้าขวาที่เรียกว่า “ซ้ายทับขวา”
การนั่งให้ขาขวาและขาซ้ายขนานกัน
นั่งขัดสมาธิเพชร โดยการนั่งให้เท้าซ้ายทับเข่าขวา และเท้าขวาทับเข่าซ้าย
อย่างไรก็ตาม มีเทคนิคการนั่งสมาธิที่จะไม่ทำลายสุขภาพได้ โดยการนั่งให้เข่าต่ำกว่าเอว ทำให้กระดูกเชิงกรานยกขึ้นเล็กน้อยและไม่ดึงกล้ามเนื้อหลังมากเกินไป
ตั้งกายตรง หมายถึง ตั้งกายตรง โดยไม่เอนมาด้านหน้ามากเกินไป เพราะจะทำให้ปวดเอวได้ ในทางกลับกันหากเอนไปทางด้านหลังมากเกินไป จะทำให้ดึงกล้ามเนื้อบ่าไหล่และกระดูกสะบัก จนทำให้เกิดอาการปวดได้
วิธีที่ถูกต้องคือ การนั่งยืดตัวให้ตรงแล้วผ่อนลง เพื่อให้น้ำหนักส่วนบนของร่างกายตกลงบนกระดูกเชิงกราน
ต้องเก็บศอกเพื่อให้น้ำหนักของแขนอยู่ใกล้ลำตัวมากที่สุด
เก็บคอไม่ให้ยื่นไปด้านหน้า เพื่อป้องกันอาการปวดคอเช่นกัน
เก็บคาง ตามองไปยังเบื้องหน้าและก้มหน้าเล็กน้อย
ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ตามที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สติ แปลว่า การระลึกได้ หมายถึง การระลึกถึงสิ่งที่ทำ จำคำที่พูดแล้วแม้นนานได้ ซึ่งเน้นไปที่การระลึกถึงเรื่องที่ทำให้เกิดกุศลธรรมซึ่งก็คือ สัมมาสติ นั่นเอง โดยใช้เครื่องมือที่เป็นวิธีใดวิธีหนึ่งของอนุสสติสิบ
ระลึกถึงลมหายใจเข้า ระลึกถึงลมหายใจออก หมายถึง
ลมหายใจเข้ายาวก็รู้ว่าลมหายใจเข้ายาว ลมหายใจออกยาวก็รู้ว่าลมหายใจออกยาว
ลมหายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าลมหายใจเข้าสั้น ลมหายใจออกสั้นก็รู้ว่าลมหายใจออกสั้น
ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงอุปมาอุปไมยกับนายช่างกลึง เพ่งจดจ่อกับจุดสัมผัสระหว่างใบมีดกับตัวชิ้นงาน โดยมีวิธีการง่ายๆคือ ให้ลองหายใจเข้าออกแรงๆสัก 2 – 3 ครั้ง แล้วเพ่งหรือวางจิตตั้งไว้ที่จุดกระทบของลมหายใจกับโพรงจมูกที่เรารับรู้ได้เพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้นหรือที่เรียกว่า “ปริมุขัง” โดยไม่ตามลมหายใจเข้าลมหายใจออก อย่าบังคับลมให้สั้นหรือยาว อย่าฝืนให้เร็วหรือช้า แรงหรือเบา แต่ปล่อยจังหวะให้เป็นไปตามธรรมชาติของการหายใจตนเอง
“อานาปานสติ” เป็นการฝึกสติโดยใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่การฝึกหายใจ ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจเข้าหรือลมหายใจออก ทั้งสั้นและยาว ทั้งเร็วและช้า ทั้งแรงและเบา ก็ให้แค่รู้เท่านั้น โดยการรู้ตัวรอบคอบ และมีสัมปชัญญะ
หากมีความคิดใดๆผ่านเข้ามาในช่องทางใจ ซึ่งเกิดจากอายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) กระทบกับอายตนะภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์) ที่ถูกต้องตรงกันตามช่องทางต่างๆ ไปตามวิสัยและที่โคจรของมัน จนเกิดเป็นผัสสะ และการระลึกได้ของเราจะตามไปที่จุดนั้น จิตจะถูกดึงไปจนทำให้เราลืมลมหายใจไปเพราะ “เมื่อจิตตริตรึกไปในเรื่องใดมาก จิตจะน้อมไปด้วยอาการอย่างนั้น” ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบไว้กับสัตว์ 6 ชนิดดังนี้
งู เปรียบกับ กาย โคจรด้วยการเข้าจอมปลวก
จระเข้ เปรียบกับ ลิ้น โคจรด้วยการจะลงน้ำ
สุนัขบ้าน เปรียบกับ หู โคจรด้วยการจะไปหาเจ้าของในหมู่บ้าน
สุนัขจิ้งจอก เปรียบกับ จมูก โคจรด้วยการจะไปป่าช้า
นกอินทรีย์ เปรียบกับ ตา โคจรด้วยการจะบินขึ้นฟ้า
ลิง เปรียบกับ ใจ โคจรด้วยการจะเข้าป่า
เมื่อผูกสัตว์ทั้งหกไว้ด้วยเชือก แล้วเอาปลายเชือกมาผูกรวมไว้ตรงกลาง หากสัตว์ตัวใดมีกำลังมากก็จะสามารถดึงสัตว์ตัวอื่นไปได้ หรือการเผลอสติ นั่นเอง ดังนั้นควรแก้ไขโดยต้องดึงจิตหรือการระลึกรู้กลับมาที่เดิม “สติอยู่ที่ไหน จิตก็อยู่ที่นั่น” ซึ่งก็หมายถึงว่า หากเราคิดนึกตริตรึกไปในทางกาม พยาบาท เบียดเบียน หรือเรื่องที่น่าพอใจ ไม่พอใจทั้งหลาย จนเกิดเป็นอาสวะชนิดที่เป็นราคะนุสัย (เรื่องที่น่าพอใจ) หรือปฏิฆะนุสัย (เรื่องที่ไม่น่าพอใจ) ฝังตัวกลับลงไปในจิตจนเกิดเป็นกิเลสขึ้นมาในรูปของราคะ โทสะ หรือโมหะบ้าง คิดปรุงแต่งต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
อีกนัยหนึ่ง หากผูกสัตว์ทั้งหกไว้ด้วยเชือก แล้วเอาปลายเชือกมาผูกรวมไว้กับเสาเขื่อนเสาหลัก ที่เป็นเสาหินทั้งแท่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ศอก และมีความยาว 16 ศอก ฝังลงไปในดินอย่างดีและมั่นคงมีความลึก 8 ศอก และโผล่พ้นดิน 8 ศอก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบเสาเขื่อนเสาหลักนี้ไว้กับ “สติ” นั่นเอง
ดังนั้นหากสติรับรู้ถึงลมหายใจ จิตก็จะอยู่ที่ลมหายใจเช่นกัน ทำให้ลมหายใจมีพลัง นั่นหมายถึงว่า อานาปานสติจะมีพลัง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า สติจะมีพลังมากขึ้นตามกระบวนการของอานาปานสติ
ทั้งนี้เราควรจะปฏิบัติด้วยการปรารภความเพียรที่เหมาะสม ไม่หนักหรือย่อหย่อนเกินไป จะทำให้การทำสมาธินั้นไม่สำเร็จอาจจะเกิดอาการปวดศรีษะ ปวดหว่างคิ้ว หรือเผลอหลงลืมสติได้
อุปสรรคหนึ่งที่ทำให้สติไม่มีกำลังคือ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการระลึกถึงลมหายใจอยู่บ่อยๆ แล้วจะทำให้สติมีกำลังมากขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ถือเป็นทักษะที่สามารถฝึกทำให้มีและดีขึ้นได้ ควรฝึกปฏิบัติซ้ำๆ ย้ำๆ ด้วยความแยบคาย รู้จักสังเกต เพ่งดูให้ดี ค่อยๆปรับให้ถูกต้อง อย่าล้มเลิกกลางครัน จนทำให้ความรู้สึกทางกาย การรับรู้ทางใจ หรือความคิดระงับลง
“อินทรีย์มีช่องทางคือใจเป็นที่แล่นไปสู่
ใจมีสติเป็นที่แล่นไปสู่
สติมีวิมุตติ(ความพ้น) เป็นที่แล่นไปสู่
และวิมุตตินำไปสู่นิพพานได้”
– – – ตอบคำถาม : คุณภวัต
พระสูตร / เรื่องที่เกี่ยวข้อง อ่าน “มหาสติปัฏฐานสูตร (๒๒)” พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค อ่าน “อานาปานสติสูตร (๑๑๘)” พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ฟัง “เริ่มที่มีสติกำหนดรู้ รวมลงที่ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุนิพพาน” ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2561 ฟัง “ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม” ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2561 ฟัง “เริ่มต้นที่การระลึกรู้” ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ฟัง “สากัจฉาธรรม-สัมมาสมาธิ” ออกอากาศทาง FM106 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ฟัง “คำพุทธ – อานาปานสติสูตร” ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2559