เข้าใจความหมายและรายละเอียดของ “โพชฌงค์เจ็ด”
โพชฌงค์เจ็ด คือธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ เป็นองค์ธรรมที่จิตของเราจะต้องมีเพื่อเป็นแนวทางในการรู้และเข้าใจเรื่องของอริยสัจสี่ได้ ถือเป็นหลักธรรมส่วนหนึ่งของ โพธิปักขิยธรรม 37 คือธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ เกื้อหนุนแก่อริยมรรคมีองค์แปด ทั้งนี้เป็นองค์ธรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามลำดับขั้น โดยประกอบด้วยรายละเอียด 7 ประการดังนี้
สติ (สติสัมโพชฌงค์) ความระลึกได้ในสิ่งที่เป็นกุศลธรรม สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง และต้องเกี่ยวเนื่องกับสัมมาสติเท่านั้น
ธัมมวิจยะ (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์) ความเลือกเฟ้น ใคร่ครวญธรรมด้วยปัญญา เห็นตามความเป็นจริง มีความสอดส่องสืบค้นธรรม
วิริยะ (วิริยสัมโพชฌงค์) ความเพียรทั้งกายและจิต ทำจริงแน่วแน่จริง มีความกล้าที่จะเผชิญกับความจริงทั้งสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่ทำให้อกุศลธรรมลดลงและกุศลธรรมเพิ่มมากขึ้น
ปีติ (ปีติสัมโพชฌงค์) ความอิ่มเอิ่มใจ ความสบายใจ ซึ่งมีสาเหตุมาจากอกุศลธรรมลดลงและกุศลธรรมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราเรียกว่า ปิติแบบนิรามิส เพราะเป็นปิติที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องล่อ ซึ่งจะแตกต่างกับ ปิติแบบอามิส ซึ่งต้องอาศัยเครื่องล่อผ่านทางอายตนะภายในเพื่อให้เกิดความสุข
ปัสสัทธิ (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์) ความสงบระงับทั้งกายใจ ไม่วุ่นวายไปตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว
สมาธิ (สมาธิสัมโพชฌงค์) ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์ มีจิตเป็นอารมณ์อันเดียว และมีความสามารถเพ่งเฉพาะซึ่งจิตที่ตั้งมั่นแล้วอย่างนั้นเป็นอย่างดี
อุเบกขา (อุเบกขาสัมโพชฌงค์) ความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามเป็นจริง สามารถวางเฉยได้เมื่อมีสิ่งใดๆมากระทบ
โพชฌงค์เจ็ด จะสามารถเกิดขึ้นได้นั้นจะต้องเริ่มจากการตั้งสติให้ดีเป็นหลักเสียก่อน อีกทั้งต้องมีการฝึกปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอน สะสมทีละเล็กทีละน้อยอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการพัฒนาให้ละเอียดจนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยการทำจากไม่มีให้มี ทำจากไม่ดีให้ดีขึ้นมา เราเรียกขั้นตอนนี้ว่า “ภวิตา” นั่นเอง
การปฏิบัติในแต่ละอย่างของโพชฌงค์เจ็ดนั้น ควรต้องปฏิบัติในลักษณะอยู่ในความวิเวกด้วยกายและจิต ไม่ข้องแวะกับสิ่งที่ไม่ดี เป็นอกุศลธรรม ปราศจากความคลายกำหนัด(วิราคะ) เพื่อจิตที่น้อมไปในการปล่อยวาง คลายความยึดถือจากสิ่งที่เป็นทุกข์ และสามารถใช้โพชฌงค์เจ็ดเพื่อพัฒนาให้อริยมรรคมีองค์แปดเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้เราควรจะสร้างกำลังใจในการปฏิบัติธรรมโดย
มีสรณะ ที่พึ่ง ที่ระลึกถึง โดยการตั้งศรัทธาไว้ในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
ปลูกศรัทธาขึ้น โดยใช้ทุกข์เป็นที่ตั้งของศรัทธา
เราจะเห็นทุกข์ได้โดยมีปัญญา หรือ “โยนิโสมนสิการ”
“โดยสรุปคือ ปัญญาเป็นตัวที่ปรับให้ศรัทธาเพิ่มได้”