“บุญ” เป็นชื่อของความสุข เป็นการกระทำสิ่งที่ดี ๆ ทั้งหมด เพื่อสร้างกุศลธรรมให้เกิดขึ้น ซึ่งมีความหมายครอบคลุมไปถึงการให้ทาน การรักษาศีล การปฏิบัติธรรมภาวนา หรือแม้กระทั่งการให้อภัย การพูดจาดี ๆ ต่อกัน การแผ่เมตตา เป็นต้น
“จาคานุสสติ” คือ การระลึกถึงบุญที่ได้ทำไปแล้ว มีความศรัทธาเลื่อมใสหลังการให้ ทำให้เกิดสติและปัญญา เป็นบุญที่ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
บุญเกิดขึ้นที่จิต เราต้องมีความมั่นใจในผลบุญ กรรมดีมี กรรมชั่วมี ซึ่งสิ่งที่ได้ผลทันทีคือ การเกิดศีล สมาธิ และปัญญา เป็นธรรมะที่สามารถเห็นได้ด้วยตนเอง
รวบรวมคำถามในเรื่องของบุญ
ทําไมจึงต้องมีการบอกบุญ
“ทำบุญย่อมได้บุญ ทำบาปย่อมได้บาป” หากไม่ทำบุญ เราจะไปสู่ที่ตกต่ำ การบอกบุญถือเป็นสิ่งดีเพื่อให้ผู้อื่นมั่นคงในความดีและตั้งอยู่ในธรรม
ทําไมจึงต้องอนุโมทนาบุญ
ถือเป็นการมุทิตา หรือ ยินดีในบุญและความดีที่ผู้อื่นสร้างขึ้นอย่างจริงใจ ทำให้ลดความริษยาในจิตใจลง และเป็นการสร้างบุญอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนงอกเงยของบุญโดยใช้จิตของตนทำอีกด้วย
ทำไมต้องกรวดน้ำ
การกรวดน้ำ ถือเป็นการอนุโมทนาบุญที่แสดงออกทางกาย และเป็นรูปแบบประเพณีที่เป็นการบ่งบอกเพื่อให้เกิดความมั่นใจ แต่ไม่ใช่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
เมื่อทำบุญแล้วจำเป็นต้องอธิษฐานด้วยหรือไม่ ทั้งนี้การอธิษฐานเหมือนเป็นการทำบุญแล้วหวังผล เป็นการเพิ่มพูนกิเลสหรือไม่?
หากหวังผลที่เกี่ยวกับกามหรือโลกธรรมแปด ถือเป็นกิเลสแน่นอน ในทางตรงข้ามหากหวังผลไปทางมรรคแปด ถือเป็นสิ่งที่เป็นกุศลธรรม เพราะเป็นหนทางให้ถึงความดับไม่เหลือของกิเลส ตัณหา และอวิชชา
เราสามารถอุทิศส่วนกุศลให้กับคนที่มีชีวิตอยู่ได้หรือไม่?
การทำบุญอุทิศส่วนกุศล หมายถึง “เราปรารภใคร เราจึงทำบุญนี้” ซึ่งเป็นการปรารภเหตุนั้นเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้ทำความดี สร้างกุศลธรรม
ยิ่งทําบุญ ให้ทานด้วยปัจจัยจำนวนมาก ก็จะยิ่งได้บุญมาก จริงหรือไม่?
ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 3 อย่างของผู้ให้ ที่ต้องศรัทธาก่อนให้ (ทำให้มีจิตน้อมไป), ระหว่างให้ (ทำให้มีจิตเลื่อมใส) และหลังให้ (ทำให้จิตมีความปลื้มใจ) ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดศรัทธา และเงื่อนไข 3 อย่างของผู้รับ ที่ต้องมาราคะ โทสะ และโมหะ เบาบาง ลดลง หรือไม่มีเลย
ช่วงแรก ๆ ของการทำบุญ ให้ทาน จะรู้สึกปิติอิ่มเอมใจมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งซึ่งยังคงยังทำบุญบ่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ แต่กลับมีความรู้สึกเฉยๆ ไม่ยินดียินร้ายในบุญนั้นสักเท่าไร ดังนั้นเราควรวางใจอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้?
เมื่อทำบุญไปเรื่อย ๆ จะทำให้เราเกิดสติ สมาธิ และปัญญามากขึ้น จึงทำให้ไม่ยินดียินร้ายในบุญนั้น จนกลายเป็นอุเบกขาไป สามารถที่จะปล่อยวางได้
อะไรเป็นเหตุที่ทำให้บุญส่งผลช้าหรือเร็ว
นี้เป็นเรื่องของอจินไตย ที่เกี่ยวข้องกับผลและวิบากของกรรม จึงให้มีความเชื่อที่ถูกต้องในเรื่องกรรม เช่นนี้ว่า
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
บุคคลทำกรรมอย่างใด ๆ จะต้องได้รับผลของกรรมหรือวิบากกรรมอย่างนั้น ๆ
ระดับวิธีการที่ให้ผลของกรรมจะต่างกันออกไปตามวาระ คือ เดี๋ยวนั้น เวลาต่อมา และในเวลาต่อ ๆ มา
กรรมจะส่งผลมากหรือน้อย ขึ้นกับเหตุปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง
แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: สมการชีวิต Ep.26 , ใต้ร่มโพธิบท Ep.67, คลังพระสูตร Ep.65 , นิทานพรรณา Ep.44 , ตามใจท่าน Ep.60, #กรรม