คำว่า “เจ” เป็นภาษาจีน มาจากศาสนาพุทธนิกายมหายาน หากย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาลจากบันทึกการเดินทางของหลวงจีนฟาเหียน ซึ่งท่านเป็นพระที่เดินทางไปศึกษาคำสอนในชมพูทวีป และเป็นรุ่นพี่ของพระถังซัมจั๋งอีกด้วย กล่าวไว้ว่าการรับประทานอาหารของคนในชมพูทวีป สำหรับผู้ที่อยู่ในวรรณะสูง เช่น กษัตริย์ พราหมณ์ จะไม่กินเนื้อ ล่าเนื้อ หรือทำฟาร์มสัตว์ แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีที่ดิน มีความเป็นอยู่ ใช้จ่ายน้อย จึงต้องไปเบียดเบียนสัตว์มากิน

คำสอนของพระพุทธเจ้าได้พูดเกี่ยวกับเหตุปัจจัยของการบรรลุธรรมขั้นสูงไว้ว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องเพศ วัย อาหารที่รับประทาน เครื่องแบบที่ใส่ หรือการโกนผมห่มเหลือง แต่เหตุปัจจัยหลักขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์แปด โดยมีรายละเอียดดังนี้ คือ 

งดเว้นการเบียดเบียนชีวิตกันให้ได้มากที่สุด ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 ระดับ (การลงมือเองด้วยความอยากในอาหาร ความเกลียด ความโกรธ, การสั่งให้ผู้อื่นทำ,การชักชวนให้ผู้อื่นทำ)

การไม่ควรกระทำในอกรณียกิจ 5 (การค้าขายสัตว์เป็น, การค้าขายเนื้อสัตว์, การค้าขายยาพิษ, การค้าขายสุรา น้ำเมาต่าง ๆ, การค้าขายศาตราอาวุธ), 

โภชเนมัตตัญญุตตา หมายถึง การมีชีวิตความเป็นอยู่ มีสติในความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร เป็นผู้อยู่ง่ายเลี้ยงง่าย คือกินเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายให้ชีวิตเป็นอยู่ได้ผาสุก มิใช่เพื่อสนุกสนานมัวเมา รู้จักควบคุมปากท้องตนเองไม่ให้อยาก และไม่ยึดติดในรสชาติ